เมื่อวันที่ 22 – 23 มกราคม 2568 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ เรื่อง “การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint Organization)” ภายใต้โครงการ “Chula Learn – Do – Share Plus” เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กร นิสิตและผู้ที่สนใจ มีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลและจัดทำการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางและกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมภายในองค์กร พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนานโยบายที่ยั่งยืนต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
.
โดยกิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายเชิงลึกเกี่ยวกับหลักการและทฤษฎีในการคำนวณและมาตรฐานการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร “Carbon Footprint Organization” โดย ศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ชวาลาฤทธิ์ จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน พร้อมการนำเสนอกรณีศึกษาและตัวอย่างที่เกี่ยวข้อง และแนะนำ “Zplify Emission Management Platform” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยเน้นการลงทะเบียนเข้าใช้งาน วิธีกรอกข้อมูล และการคำนวณผลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรอย่างเป็นระบบเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
.
ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านความยั่งยืนและการมีส่วนร่วมกับสังคม กล่าวว่า “กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ในการช่วยสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับบุคลากรในการจัดทำข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจและสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาองกรค์มุ่งสู่การเป็นองค์กรต้นแบบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนในอนาคต”
#ChulaEngineering #วิศวจุฬา #Chula #ChulaLearnDoSharePlus