คณะวิศวฯ จุฬาฯ และ CBiS ภายใต้มูลนิธิอรุณ สรเทศน์ ได้จัดงาน “อรุณ สรเทศน์ รำลึก 2568” โดยมีการเปิดตัว “โครงการ Chula Learn-Do-Share Plus”

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) ภายใต้มูลนิธิอรุณ สรเทศน์ ได้จัดงาน “อรุณ สรเทศน์ รำลึก 2568” โดยมีการเปิดตัว “โครงการ Chula Learn-Do-Share Plus” และการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “จาก COP 29 สู่แนวทางการดำเนินงาน: ก้าวต่อไปของ SMEs ไทย” เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

.

เมื่อวันพุธที่ 22 มกราคม 2568 ณ หอประชุมวิศวฯ จุฬาฯ “HALL OF INTANIA” ชั้น 1 อาคาร 3 คณะวิศวฯ จุฬาฯ โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คุณวีระวัฒน์ ชลายน ประธานกรรมการมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีและรักษาการผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน ร่วมกล่าวต้อนรับและเล่าถึงที่มาของการจัดงานในครั้งนี้

.

รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ ได้กล่าวถึงความมุ่งหวังว่าจะเกิดแรงผลักดันให้เกิดการเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากร (Capacity building) ในองค์กร เพื่อการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นแกนสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกให้กับนิสิตและบุคลากรในคณะฯ ผ่านกิจกรรม Learn-Do-Share Plus และเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับบุคลากรในภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านหลักสูตร Innovative Engineering for Sustainability (IES) โครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และการดำเนินงานของสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน

.

ภายในงานมีการเปิดตัว “โครงการ Chula Learn-Do-Share Plus” เพื่อส่งต่อองค์ความรู้และสร้างประสบการณ์ในการประเมิน Carbon footprint และการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ให้กับคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป รวมถึงการรายงานผลการดำเนินงานของสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล ประธานกรรมการสถาบันฯ อาทิ “การสนับสนุนเพื่อดำเนินการเพื่อขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) ของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ในปี 2567 การพัฒนา Application CFID และ CFOL เพื่อช่วยในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในชีวิตประจำวันและองค์กร ตามลำดับ การจัดหลักสูตรอบรมด้าน Climate change ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตร Net Zero CEO Leadership program รุ่นที่ 1 ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น”

.

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในภาคนโยบายผ่านการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “จาก COP 29 สู่แนวทางการดำเนินงาน: ก้าวต่อไปของ SMEs ไทย” โดยความท้าทายของธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย จะเป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ทิศทางการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงมาตรการทางการค้าต่าง ๆ เช่น CBAM จากความท้าทายเหล่านี้ นำมาสู่แนวทางการปรับตัวของธุรกิจ SMEs เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาด ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร (Capacity building) กล่าวคือ การวางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต การประเมิน CFO และ CFP ขององค์กร เป็น New Normal ในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการใช้พลังงานหรือเทคโนโลยีภายในองค์กร โดยมีกลไกและมาตรการส่งเสริมจากส่วนกลาง ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม การสนับสนุนเงินทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจ และสินเชื่อสีเขียว รวมถึง ผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่ได้ประกาศให้สหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงปารีส โดยจะระงับเงินอุดหนุนแก่กองทุนภูมิอากาศสีเขียว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นความท้าทายของประเทศไทยที่ยังคงต้องเดินหน้าเตรียมความพร้อมรับมือกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยากขึ้น รวมถึงการปรับตัวต่อกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของยุโรป

.

“วันนี้เราต้องทำตัวเราเองให้เข้มแข็ง ไม่ว่าสถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร การมีขีดความสามารถในตัวเองที่เข้มแข็งที่สุดคือเกราะกำบังสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เราสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และนำพาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน”

.

ภายในงาน ยังได้มีการประกาศความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) และภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมพัฒนาองค์ความรู้ หลักสูตรการอบรม แนวปฏิบัติที่ดีควบคู่กับการบริหารจัดการข้อมูล และกิจกรรมที่สนับสนุนให้เกิดการเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity building) ให้กับบุคลากรในองค์กรในด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจยั่งยืนและเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำของประเทศ ผ่านการประสานความร่วมมือขององค์กรชั้นนำต่าง ๆ กว่า 10 แห่ง ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และเข้าถึงโอกาสต้นทุนทางการเงินสีเขียวในอนาคต

.

จากนั้น เข้าสู่การเสวนาวิชาการหัวข้อ เสวนาวิชาการ: “นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการจัดการข้อมูลเพื่อการสร้างขีดความสามารถด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อหาแนวทางในการนำพา SMEs ของประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคง ประกอบด้วย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด คุณสุทธิพงศ์ กนกากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กีเดี้ยนวัน จำกัด ดร.นันทมล ลิมป์พิทักษ์พงศ์ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน คุณอานนท์ ตั้งสถิตพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อโยเดีย จำกัด และ ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้ดำเนินรายการ

.

ประเทศไทยมีการเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมมาในระยะหนึ่ง และมีข้อมูลในระดับที่ใช้งานได้ สิ่งสำคัญคือ การเลือกข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ในส่วนของการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นระบบของโลกที่มีความซับซ้อน รวมถึงการบูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

.

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องข้อจำกัดของการได้มาซึ่งข้อมูล ความไม่ต่อเนื่องของข้อมูล การเผยแพร่และถ่ายทอดข้อมูลออกสู่สาธารณะเพื่อสร้างความเข้าใจตรงกัน สิ่งสำคัญ คือ ข้อมูล หากไม่มีข้อมูล ส่งผลให้ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุง ว่าจะทำอย่างไรให้ข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้น

.

“Ecosystem ที่จำเป็นต่อการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีข้อมูลเพื่อการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประการหนึ่ง คือ การสร้างกำลังคนที่จะมารองรับด้านนี้ มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทหลักในการทำหลักสูตรต่าง ๆ ให้ตอบรับต่อความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในมิติที่เกี่ยวข้องกับ Climate tech ที่จะต้องมีส่วนสำคัญ ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะจุฬาฯ จะเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญเรื่องนี้” ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าว

.

สุดท้ายนี้ สามารถติดตามรับชมงานแถลงข่าวและเสวนาย้อนหลังได้ที่ https:/ /www.facebook.com/ChulaEngineering และจากความร่วมมือของสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน ในการดำเนินโครงการ Chula Learn-Do-Share Plus ที่จะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ที่ Facebook: Carbon Institute for Sustainability – CBiS ตั้งแต่วันนี้  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ contact@cbis.institute

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า