จุฬาฯ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ กฟผ. ถอดบทเรียนจากสเปน–โปรตุเกส 2025 สู่แนวทางออกแบบระบบพลังงานอย่างสมดุล รับมือโลกที่ไม่แน่นอน

“ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป: จุดเปลี่ยนของความมั่นคงพลังงาน”
.
จุฬาฯ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ กฟผ. ถอดบทเรียนจากสเปน–โปรตุเกส 2025 สู่แนวทางออกแบบระบบพลังงานอย่างสมดุล รับมือโลกที่ไม่แน่นอน
.
.
ภายหลังเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในประเทศสเปนและโปรตุเกสช่วงต้นปี 2025 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนหลายล้านคน ธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และระบบโครงข่ายไฟฟ้าทั่วคาบสมุทรไอบีเรีย กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สะท้อนความเปราะบางของระบบพลังงานยุโรปภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ดังนั้น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง จึงจำเป็นต้องหันกลับมาทบทวนระบบโครงข่ายไฟฟ้าของตนเองอย่างจริงจัง
.
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน สถาบันวิจัยพลังงาน ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงได้จัดการบรรยาย “ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป: บทเรียนจากสเปน–โปรตุเกส 2025 และแนวทางรับมือและออกแบบระบบพลังงานอย่างสมดุล” เพื่อร่วมกันถอดบทเรียนเชิงลึกจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เพื่อประเมินความเปราะบางของระบบพลังงานในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเชื่อมโยงผลกระทบจาก Climate Anomaly กับความมั่นคงของระบบโครงข่ายไฟฟ้า สู่แนวทางการออกแบบระบบพลังงานที่ยืดหยุ่น สมดุลยิ่งขึ้นสำหรับอนาคต ณ ห้องทรูแลป คณะวิศวฯ จุฬาฯ โดยมี รศ. ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก คุณธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดร.พิมพ์สุภา เกาะช้าง นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ รศ. ดร.สุรชัย ชัยทัศนีย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวฯ จุฬาฯ เป็นวิทยากร และ ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี และผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน คณะวิศวฯ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
.
รศ. ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ประธานจัดงาน กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้ไม่ใช่แค่ฟัง แต่เปลี่ยน มุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งผู้กำหนดนโยบาย วิศวกร นักวิจัย และภาคประชาชน เพื่อร่วมกันออกแบบระบบพลังงานไทยให้สามารถรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนได้อย่างสมดุล ยั่งยืน และมีศักยภาพในการฟื้นตัวอย่างแท้จริง
.
ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี และผู้อำนวยการสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน คณะวิศวฯ จุฬาฯ กล่าวว่า การสัมมนาวิชาการภายใต้หัวข้อ “ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป: บทเรียนจากสเปน–โปรตุเกส 2025 และแนวทางรับมือและออกแบบระบบพลังงานอย่างสมดุล ที่จัดขึ้นนี้เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการ คือ
1. ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ไฟดับในสเปน–โปรตุเกสปี 2025 ทั้งในมิติเทคนิคและปรากฏการณ์ภูมิอากาศ
2. ประเมินความเปราะบางของระบบพลังงานในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. เสนอแนวทางออกแบบระบบพลังงานที่มีความยืดหยุ่นและฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ส่งเสริมความตระหนักรู้ในระดับผู้กำหนดนโยบาย วิศวกร นักวิจัย และสาธารณชน เพื่อเตรียมพร้อมและพัฒนานโยบายเชิงป้องกันในระดับประเทศและภูมิภาค
.
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความรู้เชิงลึกจากกรณีศึกษาจริง พร้อมแนวทางการออกแบบระบบพลังงานที่สามารถฟื้นตัวได้ในภาวะวิกฤต และยังสามารถนำบทเรียนไปปรับใช้ในบริบทของไทยและภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ – บทเรียนจากเหตุการณ์จริง: ปัจจัยเทคนิค และภูมิอากาศสุดขั้ว
.
จากการวิเคราะห์เชิงเทคนิค เหตุการณ์ไฟดับในคาบสมุทรไอบีเรียครั้งนี้เกิดจากความซับซ้อนของหลายปัจจัย ทั้งการขาดความยืดหยุ่นในโครงข่ายไฟฟ้า การพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนสูง โดยไม่มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่เพียงพอ รวมถึงสภาพอากาศสุดขั้ว (Climate Anomaly) ที่ก่อให้เกิดคลื่นความร้อนและลมแรงผิดปกติ ส่งผลให้สายส่งไฟฟ้าเสียหายเป็นวงกว้างในเวลาอันสั้น เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของระบบพลังงานยุคใหม่ ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากทั้งธรรมชาติและโครงสร้างระบบที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน
.
– ระบบพลังงานกับสภาพภูมิอากาศ: เมื่อ Climate Resilience กลายเป็นเรื่องจำเป็น ภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาค ระบบพลังงานไม่อาจพึ่งพาความเสถียรแบบเดิมได้อีกต่อไป ความสามารถในการฟื้นตัว (resilience) และความยืดหยุ่นของโครงข่ายจึงเป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบระบบพลังงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังเร่งเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างไทยและอาเซียน
.
แนวทางรับมือและออกแบบระบบพลังงานแห่งอนาคต: สมดุล – ยืดหยุ่น – ฟื้นตัวได้
.
จากบทเรียนของยุโรปชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการลงทุนเชิงระบบ เช่น การปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Modernization) ให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์สุดขั้ว การพัฒนาและกระจายการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน การจัดสรรสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอย่างมีแผน ควบคู่กับพลังงานสำรอง และการสร้างระบบเตือนภัยและฟื้นฟูระบบอย่างรวดเร็วเมื่อเกิด blackout
.
การถอดบทเรียนครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานหลักของไทยร่วมแลกเปลี่ยน ทั้งในมิติวิชาการ วิศวกรรม และนโยบาย โดย
– คุณธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีระบบไฟฟ้ามั่นคง เพราะว่าการวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศไทยครอบคลุมถึงกำลังผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าที่เหมาะสมเพียงพอกับความต้องการไฟฟ้าในรายภูมิภาค ที่ผ่านมา กฟผ. ได้มีการพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าระดับแรงดัน 500 เควี ให้เป็นแกนหลักในการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าระหว่างภูมิภาค เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของประเทศ ขณะที่ด้านวางแผนด้านปฏิบัติการ (Operation Planning) ในการผลิตและส่งไฟฟ้า กฟผ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมระบบไฟฟ้า เพื่อรักษาระดับของการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าให้มีความเพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมถึงพิจารณาความมั่นคงระบบไฟฟ้ารองรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยการเตรียมความพร้อมกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่ายใน 3 ระดับ ประกอบด้วย
1) กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่ายทันที (Spinning Reserve) สามารถสั่งเพิ่มการผลิตและส่งจ่ายไฟฟ้าได้ทันทีที่ระบบมีความต้องการ ปัจจุบันกำหนดให้มีค่าไม่น้อยกว่า 800 เมกะวัตต์ ทุกช่วงเวลา (ปริมาณเท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในระบบ)
2) กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่าย 5 นาที (Five Minutes Response Reserve) สามารถตอบสนองได้ภายในเวลา 5 นาที ในช่วงที่ระบบไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงความต้องการใช้ไฟฟ้า หรือเหตุการณ์ที่ความถี่ของระบบไฟฟ้าลดลงไปจากค่าปกติ ปัจจุบันกำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอย่างน้อย 750 เมกะวัตต์
3) กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองพร้อมจ่าย (Operational Reserve) สามารถสั่งเดินเครื่องเพิ่มหรือขนานเครื่องเพิ่มการผลิตจากโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมเริ่มเดินเครื่อง ให้ส่งจ่ายไฟฟ้าหากระบบมีความต้องการ เพื่อรองรับหากเกิดเหตุการณ์ขัดข้อง ป้องกันปัญหาไฟดับ
.
ปัจจัยแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกและเหตุการณ์ไฟฟ้าดับที่ยุโรปชี้ให้เห็นว่า เมื่อระบบไฟฟ้ามีผลของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นตามทิศทางการมุ่งสู่ในเรื่องพลังงานสีเขียว ดังนั้น ต้องพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงเพิ่มทั้งในด้านโรงไฟฟ้าหลัก ในการควบคุมการส่งจ่ายไฟฟ้าในภูมิภาคและโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน โดยนำพลังงานไฟฟ้ากลับมาใช้ในช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูง รวมถึงเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่ (BESS) ที่มี Response Time เร็ว และการใช้อุปกรณ์เสริมแรงดันด้วย Reactive Power เช่น FACTS Device เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับบริเวณกว้างในประเทศไทย ทั้งนี้ กฟผ. ในฐานะที่ดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าจะวางแผนและดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงอย่างต่อเนื่องต่อไป
.
– รศ. ดร.สุรชัย ชัยทัศนีย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในมุมมองเชิงวิชาการ เหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในสเปนและโปรตุเกสเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ได้สร้างบทเรียนสำคัญให้กับระบบไฟฟ้าทั่วโลก โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยที่กำลังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อระบบไฟฟ้ามีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 50-70% อาจจะมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าได้
.
สำหรับประเทศไทยที่ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในอนาคต การเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งในด้านการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (BESS), เทคโนโลยี Smart Grid, รวมถึงการปรับปรุง Grid Code และนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่สูงขึ้นได้
.
นอกจากนี้ การขยายตัวของพลังงานหมุนเวียนยังส่งผลต่อโครงสร้างต้นทุนของระบบไฟฟ้าโดยรวม เนื่องจากความไม่แน่นอนของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลม อาจทำให้ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าสำรองหรือระบบกักเก็บพลังงานมากขึ้น ซึ่งอาจจะพิจารณาได้เป็นส่วนหนึ่งของ Ancillary Services ซึ่งย่อมกระทบต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ดังนั้น นอกจากการลงทุนในเทคโนโลยีแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาปรับนโยบายและกลไกตลาดไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงทางพลังงาน ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และราคาค่าไฟฟ้า
.
– ดร.พิมพ์สุภา เกาะช้าง นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ เสนอแนวทางเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย ควบคู่เป้าหมายพลังงานสะอาด
.
จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในยุโรป เป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนถึงความจำเป็นในการออกแบบระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงควบคู่กับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าก้าวสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ได้อย่างมั่นคงในระยะยาว โดยเสนอให้มีแผน Energy Resilience Roadmap ที่ครอบคลุมการพัฒนาเทคโนโลยีสนับสนุน เช่น ระบบกักเก็บพลังงานและกลไกสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า พร้อมเปิดรับทางเลือกด้านพลังงานที่เหมาะสมกับบริบทของไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านอย่างปลอดภัยและยั่งยืน
.
ท้ายนี้ จากการจัดงานครั้งนี้ คณะวิศวฯ จุฬาฯ หวังว่าจากกรณีศึกษาด้านพลังงาน ความมั่นคง และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เราจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบริบทของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า