5G Sandbox การพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมภายใต้ประกาศ sandbox ของ กสทช. ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Sandbox คืออะไร?

Sandbox คือพื้นที่ที่ กสทช. กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเป็นพิเศษแตกต่างจากพื้นที่ปกติ โดยมีการผ่อนปรนกฎระเบียบระหว่างการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมให้ทำได้อย่างยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น

การใช้งานคลื่นความถี่ในพื้นที่ sandbox จะต้องมีวัตถุประสงค์ข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  1. การวิจัยและพัฒนา การทดลอง หรือการทดสอบการใช้งานเทคโนโลยีใหม่
  2. การทดสอบการรบกวนหรือการร่วมใช้คลื่นความถี่ระหว่างเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน
  3. การทดสอบระบบโครงข่ายก่อนการใช้งานเชิงพาณิชย์

โดยผู้ที่ประสงค์จะพัฒนานวัตกรรมและใช้คลื่นความถี่ในพื้นที่ sandbox จะต้องได้รับความยินยอมจากมหาวิทยาลัยและยื่นขอรับอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่จาก กสทช. เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ผู้พัฒนาและทดสอบนวัตกรรมสามารถใช้คลื่นความถี่ได้เป็นระยะเวลา 360 วัน และสามารถขอขยายระยะเวลาการอนุญาตได้ครั้งละ 180 วัน โดยการขอขยายระยะเวลาจะต้องดำเนินการยื่นคำขอล่วงหน้าอย่างน้อย 45 วัน ก่อนสิ้นสุดการอนุญาต ทั้งนี้ รวมแล้วต้องไม่เกิน 720 วัน และต้องไม่เกินอายุของพื้นที่ Sandbox

ประโยขน์ของการพัฒนานวัตกรรมภายใต้ sandbox

ผู้พัฒนาและทดสอบนวัตกรรมภายใต้ sandbox ได้รับยกเว้นใบอนุญาตให้ทำ มี และใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เฉพาะการทำ มี และใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคม เพื่อการพัฒนาและการทดสอบนวัตกรรมภายในพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะลดภาระของผู้พัฒนาได้มาก

พื้นที่ sandbox

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการขอเป็นผู้ประสานพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ และ กสทช. ได้อนุญาตโดยกำหนดระยะเวลาอนุญาตตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2562 ถึง 10 ธันวาคม 2567 ครอบคลุมพื้นที่ดังแสดงในภาพ

ความถี่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้มีการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรม

  1. ย่านความถี่ 700 MHz (703-803 MHz) ***
  2. ย่านความถี่ 900 MHz (920-925 MHz)
  3. ย่านความถี่ 2500 MHz (2500-2690 MHz) ***
  4. ย่านความถี่ C-Band (3300-3800 MHz)
  5. ย่านความถี่ 5 GHz (5850-5925 MHz)
  6. ย่านความถี่ 26 GHz (24.250-27.000 GHz) ***
  7. ย่านความถี่ 28 GHz (27.000-29.500 GHz)
  8. ย่านความถี่ Millimeter Wave (57-76 GHz และ 81-86 GHz)

หมายเหตุ: ***การใช้คลื่นย่านนี้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้บริการที่ได้ประมูลความถี่นี้ไปแล้ว (สามารถพัฒนา end-device ได้โดยใช้ sim card จากผู้ให้บริการ)

การใช้คลื่นความถี่ภายในพื้นที่ sandbox

  • การใช้คลื่นความถี่ที่อนุญาตให้ใช้เพื่อพัฒนาและทดสอบนวัตกรรมภายในพื้นที่ Sandbox เป็นการใช้คลื่นความถี่ร่วมกัน (shared use) โดยไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองการรบกวน
  • หากการใช้งานคลื่นความถี่ของผู้ได้รับอนุญาตก่อให้เกิดการรบกวนระดับรุนแรงต่อการใช้งานคลื่นความถี่ของผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้รับสิทธิการคุ้มครองการรบกวนในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง ผู้ได้รับอนุญาตต้องระงับการใช้คลื่นความถี่ที่ก่อให้เกิดการรบกวนในบริเวณนั้นโดยทันที หากการใช้งานคลื่นความถี่ของผู้ได้รับอนุญาตก่อให้เกิดการรบกวนระดับรุนแรงต่อการใช้งานคลื่นความถี่ของผู้ได้รับอนุญาตรายอื่นในพื้นที่กากับดูแลเป็นการเฉพาะ ให้ผู้ได้รับการรบกวนแจ้งต่อผู้ประสานงานพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะเพื่อจัดการแก้ไขการรบกวนดังกล่าว

รายละเอียดเพิ่มเติม Chula 5G (http://5g.chula.ac.th/)

CONTACT US
5G AI/IoT Innovation Center
Chulalongkorn University
M Floor, Chula Pat 14 Building
254 Phayathai Road, Wangmai, Pathumwan, Bangkok 10330
E-mail: 5g@chula.ac.th
Tel. +662 218 0271