FACULTY

ทำเนียบ “ศักดิ์อินทาเนีย” : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ สุรฤกษ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ สุรฤกษ์ เป็นอาจารย์ที่ทุ่มเทให้กับงานกิจการนิสิตของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และของชมรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นผู้มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีเมตตา และพร้อมให้คำปรึกษาแก่นิสิตในทุกๆด้าน พยายามคิดกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของนิสิต ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหมู่นิสิตทั้งในแง่วิชาการ และแง่สังคม การบำเพ็ญประโยชน์ การทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจเพื่อนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ของอาจารย์อรรถสิทธิ์เป็นที่ประจักษ์ และเป็นที่ชื่นชมจากสังคมทั่วไป

ตำแหน่ง   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ A-4
สังกัด        ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
เริ่มปฏิบัติงานในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อ   19 กรกฎาคม 2544
ประวัติการศึกษา    

พ.ศ. 2530 วท.บ. (คณิตศาสตร์) มหาวิทยาลัยศิลปากร
พ.ศ. 2538 D.E.A. (I.A.), Universite de Paris XIII, Paris, France
พ.ศ. 2544 Dr.Inf., Universite Pierre et Marie Curie

ผลงานด้านการเรียนการสอน
  • เป็นอาจารย์ผู้สอนและรับผิดชอบในรายวิชาโครงสร้างดีสคริต (discrete structures) และวิชาภาษารูปนัยและทฤษฎีออโตมาตา (formal language and automata theory) ในระดับปริญญาบัณฑิต และรายวิชาทฤษฎีคณนา (theory of computation) และวิชาสัมมนา ระดับบัณฑิตศึกษา นอกจากนี้ยังเป็นผู้รับผิดชอบในรายวิชาหัวข้อพิเศษทางวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ด้านเลขคณิตสำหรับคอมพิวเตอร์ (computer arithmetic)
ผลงานด้านวิจัย
  • เป็นอาจารย์ผู้รับผิดชอบห้องปฏิบัติการวิจัยทางวิศวกรรมระบบนับได้เชิงทฤษฎี (Engineering Laboratory in Theoretical Enumerable System: ELITE) ซึ่งดำเนินงานวิจัยด้านระบบการคำนวณที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ โดยมีบทความวิชาการที่เผยแพร่ในงานประชุมวิชาการนานาชาติและระดับประเทศ ประมาณ 15 บทความต่อปี
ผลงานด้านกิจการนิสิต
  • อาจารย์ที่ปรึกษา โครงการค่ายถึงบิตถึงไบต์ ซึ่งเป็นโครงการนำนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ไปสอนคอมพิวเตอร์ทั่วไปให้กับ นักเรียน และครู อาจารย์จากโรงเรียนที่ขาดแคลนในจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นประจำในเดือนตุลาคมของทุกปี (รวมทั้งสิ้นจนถึงปัจจุบัน 6 ค่าย) ในแต่ละค่ายจะมีโรงเรียนเข้าร่วมประมาณ 20-30 โรงเรียน และนักเรียน ครูอาจารย์ ประมาณ 300 คนโดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากความคิดของคณาจารย์ในภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการฝึกให้นิสิตของภาควิชาฯ ให้รู้จักการแบ่งปันความรู้ให้กับสังคม ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ ครูและอาจารย์ในโรงเรียนต่างๆ นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาช่วยในการเรียนการสอนเบื้องต้นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • อาจารย์ที่ปรึกษา โครงการค่ายพัฒนาห้องสมุด ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาหรือปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท เป็นการให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยจัดหาหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสนับสนุนให้ห้องสมุดของโรงเรียนในชนบทที่ขาดโอกาส พร้อมทั้งพานิสิตไปร่วมกันพัฒนา ปรับปรุงห้องสมุด นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสันทนาการให้กับนักเรียนในโรงเรียนด้วย โดยเริ่มขึ้นครังแรกในปี พ.ศ. 2551 โดยโครงการนี้เกิดขึ้นตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงมีต่อภาควิชาบรรณรักษ์ศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จึงเป็นโครงการที่ร่วมมือกันของสองภาควิชา โดยจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนสิงหาคม ของทุกปี
  • อาจารย์ที่ปรึกษา โครงการสนับสนุนตัวแทนนิสิตเข้าร่วมการแข่งขันการเขียนโปรแกรมนานาชาติ ACM ซึ่งเป็นโครงการคัดเลือกและนำนิสิตไปเข้าร่วมการแข่งขันการเขียนโปรแกรมนานาชาติ (ACM International Collegiate Programming Contest: ACM ICPC) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี(เดือนพฤศจิกายน) ถือเป็นการแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีการแข่งขันสูงมากในระดับมหาวิทยาลัย โดยภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะทำการคัดเลือกนิสิตที่มีความเชี่ยวชาญด้าน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นตัวแทนเข้าร่วมแข่งขัน โครงการนี้เริ่มภาควิชาฯ ได้เข้าร่วมในปี พ.ศ. 2551 เป็นครั้งแรก โดยนิสิตสามารถทำคะแนนได้เป็นอันดับที่ 13 (โดยเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย) โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และโครงการ CU Star ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สิ่งที่ได้รับจากโครงการนี้ทำให้นิสิตเกิดความตื่นตัวและแข่งขันกันในด้านวิชาการอันนำมาสู่การพัฒนาศักยภาพของนิสิตภาควิชาฯ
  • อาจารย์ที่ปรึกษา โครงการสนับสนุนตัวแทนนิสิตเข้าร่วมการแข่งขันการเขียนโปรแกรมระดับชาติ ACM เป็นโครงการคัดเลือกนิสิตไปเข้าร่วมการแข่งขันการเขียนโปรแกรมระดับชาติ (ACM Thailand Collegiate Programming Contest) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2552 โดยภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จะส่งนิสิตตัวแทน ACM ICPC เข้าร่วมเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติในเดือน พฤศจิกายน โครงการนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการขอการสนับสนุนจากภาคเอกชน
  • อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการนำนิสิตเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ อันเป็นโครงการนำนิสิตระดับมหาบัณฑิตชั้นปีที่ 1 ของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตร์ เข้าร่วมงานประชุมวิชาการระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (National Computer Science and Engineering Conference: NCSEC) เพื่อเป็นการกระตุ้นให้นิสิตของภาควิชาฯ ได้เห็นและเข้าใจงานวิจัยทางด้านคอมพิวเตอร์ของนักวิจัยในประเทศไทย และยังได้พบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับนิสิต นักศึกษาในระดับเดียวกันของสถาบันอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้โครงการยังดำเนินการคัดเลื่อกนิสิตระดับปริญญาบัณฑิตปีสุดท้ายที่มีศักยภาพสูงเข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นต่อไปด้วย
  • ดำเนินกิจกรรมสนับสนุนให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ เข้าศึกษาในภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โดยสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษสนใจเข้าศึกษาที่ภาควิชาฯ โดย
    • เข้าร่วมเป็นอาจารย์ผู้สอนในค่ายโอลิมปิกวิชาการทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งจัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน
    • เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและสอนในค่ายโอลิมปิกวิชาการทางคอมพิวเตอร์ ศูนย์โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ภายใต้การสนับสนุนของ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน
    • เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับนักเรียนในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project: JSTP)
ผลงานด้านบริหาร
  • พ.ศ. 2548 – 2551 ผู้ช่วยหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ด้านกิจการนิสิต
  • พ.ศ. 2551 – ปัจจุบัน นายทะเบียนคณะวิศวกรรมศาสตร์
เคล็ดลับความสำเร็จ / ความนัยจากใจเกี่ยวกับรางวัลนี้

กิจกรรมทุกอย่างมีอุปสรรค ปัญหาทุกอย่างมีทางออก ไม่ว่าอย่างไรถ้าทำด้วยใจก็จะไม่ล้มเหลว