FACULTY

ทำเนียบ “ศักดิ์อินทาเนีย” : นางนาฏยา บุญช่วยฉัน

คุณนาฏยา บุญช่วยฉัน เป็นบุคลากรสายสนับสนุนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีความสามารถรอบด้านอย่างหาตัวจับยาก ซึ่งทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาในการปฏิบัติงาน สามารถทำงานได้ด้วยตนเอง คิดเอง ริเริ่มเอง และทำเอง โดยไม่ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นผู้มีจรรยาบรรณ และความประพฤติที่เหมาะสม มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน สู้งาน และไม่ย่อท้อ พร้อมปรับตัวเพื่อการพัฒนาตนเอง และพัฒนางานอยู่เสมอ

ตำแหน่ง    ปฏิบัติงานโครงการ “เปิดโลกลานเกียร์”
สังกัด         ศูนย์บริการวิชาการ
เริ่มปฏิบัติงานในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อ 13 มีนาคม 2540
ประวัติการศึกษา

พ.ศ. 2543 มัธยมศึกษาตอนปลาย กศน. บางใหญ่

ลักษณะงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ

ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการ “เปิดโลกลานเกียร์” โครงการถ่ายโอนองค์ความรู้สู่สังคม ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยดำเนินการในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การจัดการอบรมเป็นไปได้ตามวัตถุประสงค์ เช่น การวางแผนการจัดอบรมเป็นรายปี ดำเนินการจัดการอบรมในแต่ละครั้ง (เดือนละไม่ต่ำกว่า 1 ครั้ง) เขียนข้อเสนอโครงการเพื่อของบประมาณสนับสนุนโครงการ จัดทำฐานข้อมูลผู้เข้ารับการอบรม ปรับปรุงเนื้อหาในหน้าเว็บไซท์ของโครงการให้ทันต่อเหตุการณ์ และติดต่อประสานงานกับคณะกรรมการโครงการฯ ทั้งภายในและภายนอกคณะฯ เป็นต้น

ความคิดริเริ่มเพื่อปรับปรุงการทำงานที่ทำให้ผลงานมีความโดดเด่น

เนื่องจากโครงการ “เปิดโลกลานเกียร์” เป็นโครงการยุทธศาสตร์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เพิ่งเริ่มมีการดำเนินการในปี พ.ศ. 2551 ดังนั้นการดำเนินการทั้งหมดเป็นงานที่ริเริ่มใหม่ โดยคุณนาฏยา มีส่วนสำคัญในการริเริ่ม และดำเนินการให้ออกมาเป็นรูปธรรมในเกือบทุกขั้นตอน เช่น

  • เป็นผู้นำเสนอเนื้อหาโครงการที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ www.eng.chula.ac.th โครงการเปิดโลกลานเกียร์ และทำการปรับปรุงรูปแบบของเว็บไซท์โดยได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสารสนเทศ (โดย อ.ดร.อติวงศ์ ผู้ช่วยคณบดี)
  • เป็นผู้ออกแบบใบสมัครของผู้เข้าร่วมโครงการ และดำเนินการประสานงานทำให้การสมัคร สามารถทำได้ผ่านเว็บไซท์ของโครงการ
  • เป็นผู้ดำเนินการสัมภาษณ์กลุ่มบุคคลต่างๆ เช่น อาจารย์ บุคลากร นิสิต และบุคคลทั่วไป เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลข้อเสนอแนะหัวข้อที่เป็นที่สนใจของบุคคลจากหลายกลุ่ม
  • เป็นผู้ดำเนินการด้านการประชาสัมพันธ์ โดยในแต่ละการอบรมจะต้องวิเคราะห์เนื้อหาเชิงวิชาการ และประมวลให้เป็นหัวข้อการอบรม ที่ทำให้เป็นที่ดึงดูดสำหรับประชาชนทั่วไป
  • คิดรูปแบบการดำเนินโครงการให้มีความน่าสนใจและสามารถเติบโตได้ เช่น การสร้างเครือข่ายระหว่างโครงการฯ และผู้เข้าร่วมอบรม เพื่อเป็นฐานในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกันในอนาคต
ผลงานหรือการปฏิบัติงานที่ได้รับการยกย่องว่าดีเด่นและเป็นที่ประจักษ์ที่อาศัยความรู้ความชำนาญ เชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพของตำแหน่ง

ผลงานที่สำคัญคือ การที่โครงการ “เปิดโลกลานเกียร์” ได้รับการยอมรับจากผู้เข้ารับการอบรม โดยสามารถประเมินได้จากข้อมูลดังนี้

  • ผู้เข้ารับการอบรม ที่เป็นประชาชนทั่วไป เป็นจำนวนประมาณ 10 ท่าน หรือมากกว่าที่เป็น “ขาประจำ” โดยเข้าร่วมกิจกรรมเกือบทุกครั้ง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการสร้างเครือข่ายที่เหนียวแน่นระหว่างสังคม กับคณะวิศวกรรมศาสตร์
  • ในการอบรมเรื่อง “รังสีไม่ใช่เรื่องไกลตัว อันตรายหรือไม่” ได้รับความสนใจจากรายการ “กบนอกกะลา” ช่อง 9 อสมท โดยมีทีมงานของรายการมาร่วมเข้าอบรมเพื่อหาข้อมูลด้านรังสี
  • ผลการประเมินจากผู้เข้ารับการอบรมอยู่ในเกณฑ์ ดี ถึง ดีมาก ในเกือบทุกหัวข้อที่ประเมิน
ตัวอย่างการพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อนำความรู้มาพัฒนาการปฏิบัติงาน
  • เข้ารับการอบรมภาษาอังกฤษกับสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบัน)
  • อ่าน bbc.learning English และ หนังสือพิมพ์ The New York Times เป็นประจำทุกสัปดาห์ และนำมาใช้ในการติดต่อประสานงานกับวิทยากรและผู้สมัครร่วมอบรมชาวต่างประเทศ
  • สนใจความก้าวหน้าในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงหาหนังสือทางด้านนี้อ่านเพื่อเพิ่มความรู้อยู่เสมอ เช่น หนังสือ Popular Science, วารสารอินทาเนีย, วารสารช่างพูด และเว็บไซต์ http://www.astronomy.com เป็นต้น นอกจากนี้ยังสนใจหาความรู้ในศาสตร์สาขาอื่นๆ เช่น ความก้าวหน้าทางการแพทย์ จิตวิทยา ปรัชญา ศาสนา และวรรณคดีอีกด้วย
เคล็ดลับความสำเร็จ / ความนัยจากใจเกี่ยวกับรางวัลนี้

การได้รับรางวัลไม่ใช่ความสำเร็จสูงสุดของการทำงาน การนำงานที่อยู่ในความรับผิดชอบไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ต่างหาก คือความสำเร็จที่แท้จริง