FACULTY

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิษณุ คนองชัยยศ

ตำแหน่ง    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ A-4
สังกัด        ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
เริ่มปฏิบัติงานในคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อ   29 กันยายน 2546
ประวัติการศึกษา

พ.ศ. 2537 B.Sc. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ. 2540 M.Sc. (Computer Graphics) University of Tokyo, Japan
พ.ศ. 2545 Ph.D. (Computer Graphics) University of Tokyo, Japan

ประวัติการทำงาน
  • เริ่มทำงานเป็นวิศวกรระบบที่บริษัทซีดีจี ซิสเต็มส์ จำกัด เป็นเวลา 2 ปี
  • ลูกจ้างพิเศษผู้ดูแลระบบศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว 1 ปี
  • ล่ามภาษาญี่ปุ่นพิเศษของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (ทูตพาณิชย์)กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กรุงโตเกียว 5 ปี
  • ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน
  • บรรณาธิการวารสารวิศวกรรมศาสตร์ และ Engineering Journal 2 ปี
  • กรรมการ และวิทยากรพิเศษบรรยายให้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ ในสถาบันการศึกษา, หน่วยงานและสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น กรรมการวิชาการสมาคมวิชาชีพ ACM SIGGRAPH Bangkok Chapter, กรรมการฝ่ายนิสิตนักศึกษาสมาคมวิชาชีพ IEEE Thailand, อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมวิชาการ IEEE Student Chapter at Chulalongkorn University และ อาจารย์ที่ปรึกษาทีม ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมนิสิตสำหรับการแข่งขันวิชาการและวิชาชีพของ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงเขียนบทความให้แก่นิตยสารต่าง ๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, นิตยสารเอ็มบีเอ เป็นต้น
ผลงานในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา

ผลงานที่เด่นชัดในฐานะที่ปรึกษานิสิต สะท้อนจากสิ่งที่นิสิตประสบความสำเร็จ ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น วิชาการ วิชาชีพ คุณธรรม หรือกิจกรรมความสนใจพิเศษของนิสิต รวมถึงโอกาสที่นิสิตได้รับจากการให้ข้อมูล คำแนะนำ และคำปรึกษา เช่น

  • พ.ศ. 2548 ผลงานโครงงานวิศวกรรมระดับปริญญาตรีได้รับการตีพิมพ์ ในระดับนานาชาติและได้ ไปนำเสนอผลงานที่ประเทศนิวซีแลนด์
  • พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา จำนวนนิสิตได้รับทุนการศึกษาเรียนต่อระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งในภาควิชาฯ และ ณ ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประกอบอาชีพในแวดวงวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ในองค์กร ระดับนานาชาติมากขึ้น
  • พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา มีนิสิตระดับปริญญาโท-เอก ในที่ปรึกษากว่าร้อยละ 80 จะได้รับทุนการ ศึกษาและโอกาสไปแลกเปลี่ยนกับหน่วยงาน หรือองค์กรต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ได้รับประกาศเกียรติคุณในฐานะที่ปรึกษาของนิสิตมากกว่า 20 รายการจาก กิจกรรมทางวิชาชีพ และทางวิชาการ ซึ่งได้รับทุน หรือ ได้รับรางวัลระดับประเทศ จนถึงระดับ นานาชาติ จากการประกวดโครงงาน, งานวิจัย หรือ การแข่งขันทักษะทางวิชาการ ตัวอย่างเช่น รางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ การประกวดซอฟต์แวร์แห่งชาติ ปี พ.ศ. 2551 และ แชมป์ โลกการเขียนโปรแกรม IEEExtreme5.0 เมื่อปี พ.ศ. 2554 เป็นต้น
คำกล่าวขอบคุณ

กล่าวขอบคุณ ขอขอบคุณคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในรางวัลศักดิ์อินทาเนียที่ได้รับ ซึ่งเป็นเสมือนความชื่นชมในผลงานด้านการ เป็นที่ปรึกษานิสิตที่ปฏิบัติมาตลอดระยะเวลากว่า 9 ปี ของการเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะ วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดอกผลแห่งความอุตสาหะวิริยะในการให้คำปรึกษาเพื่อเปิดโลกแห่งความรู้ ความคิด และคุณธรรมแก่นิสิตล้วนเกิดจากบุคคลรอบข้างทั้งสิ้น ตั้งแต่ครอบครัว ครูสมัยมัธยมจนถึงระดับปริญญาเอก คณาจารย์เพื่อนร่วมงานทุกท่าน และที่สำคัญที่สุดคงเป็นนิสิตทุกคนที่เคยให้คำปรึกษาไป ที่เป็นคนดีมีคุณภาพ ทำให้ อาจารย์พลอยได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ซึ่งความดีใจนี้คงไม่น้อยไปกว่าความสำเร็จของลูกศิษย์ที่ได้รับรู้ ได้ยิน ได้ ฟังมาอยู่ตลอดเวลา ๙ ปี

ความหมายของการให้คำปรึกษา โดยส่วนตัวคือการชี้ให้เห็นแจ้งทั้งปัญหา และเห็นแจ้งในทางเลือกของคำตอบ ทั้งในเรื่องหรือสถานการณ์ที่นิสิตเผชิญอยู่ในปัจจุบัน หรือในอนาคต ซึ่งการให้คำแนะนำที่ดีได้นั้น ผมได้แบบอย่างจาก บุคคลที่เป็นที่ปรึกษาที่ดีให้กับตนเองเสมอมาล้วนแต่เป็นบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร มีความเป็นกันเอง น่าเคารพ น่ายกย่อง มีความรู้ พูดจาเป็น อดทนรับฟังเรา อธิบายเรื่องต่าง ๆ ได้ชัดเจนและไม่เคยแนะนำเราในทางผิด โดยรู้สึกโชคดีอย่างยิ่ง ที่ทำงานที่นี่ เพราะรอบ ๆ ตัวมีบุคคลแบบนี้จำนวนมากทั้งคณาจารย์และบุคคลากร ตลอดจนนิสิตที่ร่วมงานด้วย

หลักการส่วนตัวให้คำปรึกษานิสิต มีสามประการ อันดับแรกจะต้อง รู้ในสิ่งที่จะแนะนำอย่างถ่องแท้ เข้าใจ ปัญหา คำถาม ความต้องการของนิสิตก่อน ส่วนนี้ทำได้จากการพูดคุย การสอบถาม การมองนิสิตอย่างมิตร การอ่าน เพิ่มเติม รวมถึงการย้อนมองตนเองเมื่อวัยเยาว์ เมื่อเข้าใจแล้วจึงได้เข้าสู่ขั้นตอนการชี้แนะ ชี้ให้เห็น เหตุ ผล ของทาง เลือกต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ จากความรู้ประสบการณ์ที่เราค้นหามาหรือประสบมาก่อน ทั้งทางตรงคือ บอกเล่าให้เห็น ทางอ้อมเช่นการหาเอกสารให้อ่าน แนะนำคนให้ไปคุย หรือ เล่าเรื่องให้ฟังแล้วจึงให้นิสิตตัดสินใจ “ด้วยตนเอง” โดย เข้าใจผลที่จะตามมาทั้งด้านดีและไม่ดี และไม่ต้องคาดหวังแต่ให้ทำให้ดีที่สุด ประเด็นสุดท้ายคือใช้ช่องทางการสื่อสาร ที่เหมาะสม ส่วนตัวจะใช้หลักการว่าไม่จำเป็นที่ต้องเข้าหานิสิตได้ตลอดเวลา แต่จะทำให้นิสิตรู้ว่าเมื่อเขาต้องการติดต่อ จะหาเราได้ที่ ไหนซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากสำหรับนิสิตเสมอเมื่อมีปัญหาหรือเรื่องขอคำปรึกษาแต่ ไม่มีผู้ ให้คำปรึกษา การเลือกใช้เทคโนโลยีเป็นทางหนึ่งซึ่งสามารถปรับใช้ได้

ท้ายสุดคือคำที่ผมใช้เตือนตนเองเวลานิสิตเข้ามาขอรับคำปรึกษาคือ “เมื่อนิสิตเข้ามาขอรับปรึกษาและได้รับคำ ตอบที่เป็นประโยชน์ เขาก็จะอยากมาปรึกษาอีก เช่นเดียวกันกับ หากเราไปปรึกษาใครเขาและได้รับการเอาใจใส่ ก็อยากจะเข้าไปปรึกษาเรื่อย ๆ เมื่อมีปัญหา โดยในใจจะรู้สึกศรัทธาและเคารพ ซึ่งสองสิ่งนี้จะเป็นตัวบอกความพอดี ของการให้คำปรึกษาและการขอรับคำปรึกษา”