กองทุนนวัตกรรมวิศวฯ จุฬาฯ เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาและวิจัยเครื่องเร่งอนุภาค

เพื่อฉลองการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 2 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท NUCTECH COMPANY LIMITED แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความร่วมมือด้านวิชาการกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเฉพาะกับภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์มากว่าสิบปี ได้แสดงความจำนงที่จะบริจาคเครื่องเร่งอนุภาคขนาด 6 MeV ให้แก่คณะฯ สำหรับใช้ในกิจกรรมด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการวิจัยของนิสิต นักวิจัย และอาจารย์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของวิศวกรไทยในด้านที่เกี่ยวข้องขึ้น

เครื่องเร่งอนุภาคเป็นเทคโนโลยีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นต้นกำเนิดรังสีที่มีการประยุกต์ใช้งานในด้านต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านอุตสาหกรรม (การตรวจวัดโดยไม่ทำลาย การฆ่าเชื้อ การปรับปรุงโครงสร้างวัสดุ) ความมั่นคง (การป้องกันการลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย) การแพทย์ (การวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็ง) และการวิจัย (การวิเคราะห์ตัวอย่างและการศึกษาอนุภาคพื้นฐาน) แต่สำหรับประเทศไทยที่แม้ว่าจะมีการใช้งานเครื่องเร่งอนุภาคอยู่ทั่วไป และมีแนวโน้มที่ปริมาณการใช้งานจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในภาพรวมเรายังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มี ความสามารถในการบำรุงรักษาและการ
พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีชนิดนี้อยู่

ดังนั้น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศและเพื่อตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงสนับสนุนให้จัดการศึกษาและวิจัยด้านเครื่องเร่งอนุภาคขึ้น โดยขยายความร่วมมือกับบริษัท NUCTECH COMPANY LIMITED และ Tsinghua University ซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้พัฒนาเครื่องเร่งอนุภาคที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาคเพิ่มขึ้น และจัดตั้งศูนย์ศึกษาและวิจัยเครื่องเร่งอนุภาคขึ้น ณ พื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

ในนามของผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงใคร่ขอเชิญชวนนิสิตเก่า นิสิตปัจจุบัน และผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ได้ร่วมบริจาคสมทบ “กองทุนบริหารวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาและวิจัยเครื่องเร่งอนุภาค” ตามกำลังศรัทธาของท่าน สำหรับใช้เป็นทุนในการก่อสร้างศูนย์ศึกษาและวิจัยเครื่องเร่งอนุภาค เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ไฟล์แนบ
 
ไฟล์
ขนาด
ไฟล์