ขอเชิญร่วมบริจาคเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มกันหนาว อาหารแห้ง อุปกรณ์การเรียน ยาและเวชภัณฑ์ เพื่อแบ่งปันให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนในจังหวัดเชียงใหม่

ขอเชิญร่วมบริจาคเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มกันหนาว อาหารแห้ง อุปกรณ์การเรียน ยาและเวชภัณฑ์ เพื่อแบ่งปันให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนในจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้โครงการ Road to วิศวศึกษา Learn Do Share

สามารถบริจาคได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2563
ณ จุดรับบริจาค หน้าห้อง 116/3 อาคาร 3 คณะวิศวฯ จุฬาฯ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ ภารกิจบริหารและธุรการด้านสื่อสารองค์กรและวิรัชกิจ
โทร. 0-2218-6337 0-2218-6360

โครงการ ChAMP Engineering จัดกิจกรรม ChAMP Engineering Outing

เมื่อวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2563 โครงการ Chula Engineering Alumni Mentoring Program หรือ ChAMP Engineering โดยสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดกิจกรรม ChAMP Engineering Outing ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ พัทยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้มีความรู้ความสามารถและทักษะในด้านต่าง ๆ ผ่านมุมมองของศิษย์เก่าผู้มีประสบการณ์ทางด้านสายอาชีพวิศวกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นการสร้างเสริมศักยภาพของนิสิตให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมต่อไป

พิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ Medical Innovation & 3D Printing Technology Awards 2020

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับบริษัท เมติคูลี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท startup ที่นำผลงานวิจัยของคณะวิศวฯ มาพัฒนาต่อยอด จัดพิธีประกาศเกียรติคุณภายใต้งาน Medical Innovation & 3D Printing Technology Awards 2020 โดยมอบรางวัลให้แก่แพทย์ในสาขาศัลยกรรมประสาท ศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้าง และออร์โธปิดิกส์ใน 9 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สถาบันประสาทวิทยา โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ และโรงพยาบาลตากสิน เพื่อเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยี 3D Printing ในฐานะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม และยังเป็นการสร้างเครือข่ายและขยายความร่วมมือ รวมถึงสร้างการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างคณะวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับคณะแพทย์ของโรงพยาบาลชั้นนำในประเทศไทย โดยมี ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นประธานในพิธี

พิธียกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรแห่งจุฬาฯ ประจำปี 2563

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดพิธียกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรแห่งจุฬาฯ ประจำปี 2563 ณ ศาลาพระเกี้ยว โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภามหาวิทยาลัย และ ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในพิธี

ในการนี้ ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี พร้อมด้วย ผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากร ได้ไปร่วมแสดงความยินดีกับคณาจารย์ นิสิตและบุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ดังนี้

1. ประกาศเกียรติคุณศาสตราจารย์

ศ. ดร.เกษม ชูจารุกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

2. รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติและแสดงความยินดีแก่บุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติและชาติ ประจำปี พ.ศ. 2563

รศ. ดร.สุภาวดี อร่ามวิทย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

ผศ. ดร.อมรชัย อาภรณ์วิชานพ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี

ผศ. ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ

รศ. ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

รศ. ดร.คณิต วัฒนวิเชียร ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล

ศ. ดร.สุทธิชัย อัสสะบำรุงรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี

ผศ. ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล

น.ส.จุฑามาศ ศีลดำรงชัย ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ

3. รางวัลการวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภชน์ ประจำปี พ.ศ. 2563

–  รางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ศ. ดร.ศราวุธ ริมดุสิต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี

–  รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของนิสิตระดับปริญญาเอก สาขาสังคมศาสตร์

วิทยานิพนธ์ เรื่อง “นโยบายเพื่อความยั่งยืนของระบบขนส่งอย่างไม่เป็นทางการ กรณีศึกษาการให้บริการเชื่อมต่อในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย” Policy for sustainable informal transport- a case study of feeder services in Bangkok, Thailand

โดย ดร.จุฑาภรณ์ อัมระปาล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา รางวัลการวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภชน์ รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของนิสิตระดับปริญญาเอก โดยมี ศ. ดร.เกษม ชูจารุกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก

4. รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรสายปฏิบัติการ “คนดี ศรีจุฬาฯ” กองทุนเพื่อการพัฒนาบุคลากร ประจำปี พ.ศ. 2563

– กลุ่มปฏิบัติการและวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่าง ๆ ระดับปริญญาตรีขึ้นไป บุคลากรสายปฏิบัติการตำแหน่งอื่น ๆ ที่มีอายุปฏิบัติงาน 3 ปีขึ้นไป

นายณวัฒน์ เนียมแสง ห้องสมุด

– กลุ่มปฏิบัติการและวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่าง ๆ ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี

นายอิศรา ยาวิชัย ภารกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ

– กลุ่มบริการ

นางณัฐธยาน์ พุ่มพฤกษี ภารกิจบริหารระบบกายภาพ

วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ผนึกพลังสู้ PM2.5 พัฒนา Sensor for All ระบบตรวจวัดสภาพอากาศและมลภาวะ แอพพลิเคชันที่คิดค้นโดยคนไทย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าพัฒนาโครงการ Sensor for All ปีที่ 3 ภายใต้ความร่วมมือกับ GISTDA พร้อมด้วยองค์กรชั้นนำของไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การเคหะแห่งชาติ ไมโครซอฟท์ ทรู และเอไอเอส หวังกระจายระบบตรวจวัดสภาพอากาศและมลภาวะที่คิดค้นโดยคนไทยให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ นำข้อมูลเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุฝุ่นพิษ สู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย

วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร จัดงานแถลงข่าวและประกาศความร่วมมือภายใต้โครงการ Sensor for All ปีที่ 3 โดยได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.พัชราวดี สุวรรณธาดา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ Sensor for All ปีที่ 3 นี้ เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะวิศวฯ จุฬาฯ ที่ว่า Innovation toward Sustainability หรือการอุทิศองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมเพื่อความยั่งยืน ด้วยความร่วมมือกับหลายภาคส่วนผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวฯ กับภาคอุตสาหกรรม (Industrial Liaison Program) หรือ ILP เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหา PM2.5 และมลภาวะทางอากาศตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น วิศวฯ จุฬาฯ จึงได้เป็นแกนหลักในการผนึกพลังทุกภาคส่วนที่เห็นถึงปัญหาเดียวกันนำศาสตร์ด้านวิศวกรรมมาช่วยหาสาเหตุ เก็บข้อมูลอันเป็นประโยชน์นำมาวิเคราะห์เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ประกอบกับข้อมูลปริมาณฝุ่นที่มีความถูกต้องแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้โครงการ Sensor for All ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีแรกได้พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และทดลองติดตั้งในพื้นที่โดยรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่ปีที่ 2 พัฒนาระบบการส่งและแสดงผลข้อมูล ตลอดจนขยายการตรวจวัดปริมาณฝุ่นให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้ความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน และในปีที่ 3 นี้ คณะวิศวฯ จุฬาฯ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชนชั้นนำของไทย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การเคหะแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด ได้ร่วมมือขยายเครือข่ายเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 โดยตั้งเป้าขยายให้ได้มากกว่า 500 จุด ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมกับพัฒนาระบบวิเคราะห์และพยากรณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า ด้วยการสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูลจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) อีกทั้งได้พัฒนาระบบแสดงผลผ่านทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชันสำหรับขยายผลไปสู่การสร้างการรับรู้ร่วมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบหนังสือ บอร์ดเกม และอีกหลากหลายช่องทาง เพื่อมุ่งสู่การสร้างความรู้ที่ถูกต้องของสังคมเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตฝุ่นขนาดเล็กในระดับปัจเจก จนเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเชิงนโยบายของประเทศ โดยมีข้อมูลสนับสนุนและทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง”

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงการ Sensor for all สอดคล้องกับนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชนของ กฟผ. โดยความร่วมมือครั้งนี้ กฟผ. จะนำระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าของ กฟผ. มาบูรณาการร่วมกับโครงการ Sensor for all ในการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนเมือง พร้อมสนับสนุนการติดตั้งเซ็นเซอร์เพิ่มเติมและร่วมกับพันธมิตรพัฒนาแพลตฟอร์มระดับประเทศในการป้องกันแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่ง กฟผ. สามารถนำข้อมูลที่ได้รับมาใช้ประโยชน์ประกอบการวางแผนการเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้ด้วย นอกจากนี้ กฟผ. จะสนับสนุนทุนผ่านกิจกรรมระดมทุนในโครงการนี้ เพื่อร่วมติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศรวม 200 จุดในบริเวณพื้นที่ กฟผ. และเครือข่ายโรงเรียนในโครงการ “ห้องเรียนสีเขียว” ทั่วประเทศ

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมภายใต้โครงการ Sensor for All มาใช้เป็นเครื่องมือในการรับรู้และตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการและแก้ปัญหามลภาวะฝุ่นในระยะยาวตามสภาพปัญหาของแต่ละชุมชน โดยปัจจุบันได้ติดตั้งเครื่องเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นและคุณภาพอากาศแล้วจำนวน 12 เครื่อง ที่บริเวณสำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติและสำนักงานเคหะชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้คาดว่าจะติดตั้งเครื่องเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นและคุณภาพอากาศดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศต่อไป

นายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า GISTDA ให้ความสนใจและดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ตามภารกิจซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดคุณค่าแก่สังคม โดยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อติดตามและวิเคราะห์ค่ามลพิษทางอากาศ ซึ่งจะสามารถทำให้ประชาชนรับรู้สถานการณ์ เตรียมตัวและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ GISDTA จะร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายที่รับผิดชอบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไมโครซอฟท์ตั้งใจที่จะช่วยเสริมศักยภาพให้กับทุกคนและทุกองค์กรบนใบโลกนี้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนไปพร้อมกัน โดยที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ได้สนับสนุนโครงการ Sensor for All ในรูปของทรัพยากรคลาวด์เพื่อทั้งจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล โดยการสนับสนุนในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลกภายใต้ชื่อ AI for Earth ที่สนับสนุนงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังตั้งเป้าหมายที่จะก้าวสู่สถานะ Carbon Negative ภายในปี 2573 ด้วยการลบล้างมลภาวะคาร์บอนในปริมาณเทียบเท่ากับที่ปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมทั้งหมดนับตั้งแต่ที่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา

“ทั้งนี้ องค์กรภาครัฐ เอกชน หรือผู้ที่สนใจสามารถสนับสนุนโครงการระดมทุน Sensor for All ปีที่ 3 เพื่อสนับสนุนการผลิตและติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดฝุ่นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนา Online Platform ควบคู่ไปกับการสร้างสื่อการเรียนรู้ผ่านหนังสือ “ยุทธการดับฝุ่น” และบอร์ดเกม Just Dust เพื่อขยายผลสู่การจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ของประเทศต่อไป โดยบริจาคสมทบทุนได้ที่บัญชี “กองทุนนวัตกรรมวิศวฯ จุฬาฯ” ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจามจุรี สแควร์ เลขที่ 405-4-13788-7 ซึ่งสามารถนำยอดบริจาคนี้ ไปหักภาษีได้ 2 เท่าอีกด้วย” ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล หัวหน้าโครงการและรองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในที่สุด

นิสิตวิศวฯ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 และ รางวัล Popular Vote จากการประกวดคลิปวิดีโอโครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “รีไซเคิลเศษโลหะอย่างไร ให้ห่างไกล U-POPS”

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับนิสิตภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม ได้แก่ นายสันติภาพ พูลสวัสดิ์ นางสาวธวัลรัตน์ แก้วงาม นายณัชคุณ ธีรกิจโกศล และนายนาวิก ศรีอุปัชฌาย์ โดยมี อาจารย์ ดร.ธีระยุทธ เพ็งสะอาด เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 และ รางวัล Popular Vote จากการประกวดคลิปวิดีโอโครงการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “รีไซเคิลเศษโลหะอย่างไร ให้ห่างไกล U-POPS” ในโครงการงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ Green Scrap Metal Thailand 2020: Today for Tomorrow ภายใต้โครงการ Greening the Scrap Metal Value Chain Through Promotion of BAT/BEP to Reduce U-POPs Releases from Recycling Facilities เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563

คณะกรรมการ Green Team ประจำคณะวิศวฯ ร่วมกับ Chula Zero Waste จัดการอบรม เรื่อง การแยกขยะภายในสำนักงาน

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 คณะกรรมการ Green Team ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับทีมงาน Chula Zero Waste จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการอบรม เรื่อง การแยกขยะภายในสำนักงาน ให้กับบุคลากรคณะวิศวฯ โดยมี นายกอปร ลิ้มสุวรรณ หัวหน้ากลุ่มภารกิจการจัดการสิ่งแวดล้อม สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาฯ เป็นวิทยากร และได้รับเกียรติจาก ผศ. ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ ผู้ช่วยคณบดี กล่าวเปิดการอบรม

คณะวิศวฯ มอบหุ่นยนต์นินจาให้กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

วันที่ 29 ตุลาคม 2563 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และหัวหน้าโครงการหุ่นยนต์นินจา มอบ “หุ่นยนต์นินจา” ให้กับ ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

หุ่นยนต์นินจานี้ เป็นหุ่นยนต์สื่อสารทางไกลและเก็บข้อมูลคนไข้ ช่วยอำนวยความสะดวกในการประมวลอาการผู้ป่วย และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยมี รองศาสตราจารย์พูลพร แสงบางปลา เป็นผู้ริเริ่มในการบริจาคหุ่นยนต์ในครั้งนี้

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย

เมื่อวันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2563 หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ หลักสูตรความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านอากาศยานไร้คนขับ (Drone) ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมสวนรวมใจ 1 ชั้น 1 อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีการป้องกันประเทศ นายประยุทธ์ มณีโชติ นายกสมาคมอากาศยานไรคนขับแหงประเทศไทย และ นายไพโรจน์ เผือกวิไล อุปนายกสมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงฯ

ทั้งนี้ ผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ รองผู้อำนวยการส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (พันเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวน จันทวาลย์) และผู้บริหารสมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย ได้ร่วมหารือการสร้างความร่วมมือทางวิชาการผ่านการเชิญผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับมาจัดอบรมให้ความรู้กับนิสิต บุคลากร คณาจารย์คณะวิศวฯ จุฬาฯ และผู้สนใจ ตลอดจนความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน โครงการวิจัยและพัฒนางานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

คณบดีวิศวฯ เปิดเวทีระดมสมองผู้บริหารวางแนวกลยุทธ์โครงการสำคัญขับเคลื่อนคณะวิศวฯ จุฬาฯ เพื่อความยั่งยืนสู่ปี 2025

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ นำทีมผู้บริหารและภารกิจยุทธศาสตร์และโครงการพิเศษ จัดเวที Sustainability Strategy Workshop สะท้อนความคิด เปิดมุมมองใหม่ ๆ เปิดรับทุกความเป็นไปได้ ต่อยอด ไม่ตัดสิน และให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลายตลอดชีวิต นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมและการพัฒนาที่ยังยืนตามแนวคิดค่านิยมหลัก (Act NOW: Nudge Innovation, Overcome Changes, Work Together) นับเป็นกิจกรรมที่ปลุกพลังคณะผู้บริหารร่วมระดมสมองวางแนวกลยุทธ์โครงการสำคัญขับเคลื่อนคณะเพื่อรองรับโอกาส ความท้าทาย สู่ภาพอนาคต (Future Foresight 2025) ที่ยั่งยืน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า