คณะวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จัดโดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO มีนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผอ.TGO ลงนามร่วมกับผู้บริหารจาก 4 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อขยายผลองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพ และดำเนินกิจกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการก๊าซเรือนกระจก ในมิติต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่คาร์บอนต่ำ รวมถึงการสนับสนุนด้านเทคนิค นวัตกรรม และเทคโนโลยี ตลอดจนช่องทางการสื่อสาร เพื่อรณรงค์ สื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน นอกจากนี้ ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวฯ จุฬาฯ ยังได้ร่วมการเสวนาในหัวข้อ “C Generation ร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไข ปัญหาภาวะโลกร้อน”

และในวันดังกล่าวยังเป็นการเปิดตัวโครงการ GEN C CLIMATE ACTIONS ซึ่งเป็นโครงการที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือผ่านการเรียนรู้แบบผสมผสานจากการทำ workshop programme ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ ร่วมกับผลักดันการขับเคลื่อนและส่งเสริมการเรียนรู้จาก Digital content ของกลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า C Generation บน Digital Platform เพื่อให้เกิดเป็น Viral Connectivity สร้างการเปลี่ยนแปลง โดยมี United Nations Framework Convention on Climate Change Regional Collaboration Center (UNFCCRCC) สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย SDG Move Thailand และสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหน่วยงานภาคีร่วมขับเคลื่อนโครงการ รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ได้แก่ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัทเอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลุ่มมิตรผล และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมให้การสนับสนุนตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ

ในหลวง พระราชินี พระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบแก่ สธ. นำไปตรวจเชิงรุก ปชช.กลุ่มเสี่ยง

เมื่อเวลา 18.40 น. วันที่ 18 มีนาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ เฝ้าฯ น้อมเกล้าฯ ถวายรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องตรวจวิเคราะห์ด้านอณูชีวโมเลกุล จำนวน 1 คัน

ในโอกาสนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เฝ้าฯ รับพระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษต้นแบบ และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพิ่มเติม จำนวน 4 คัน รวมทั้งหมด 5 คัน สำหรับใช้ประโยชน์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19

นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนทุกข์ยากแก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาด และการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยได้พระราชทานพระบรมราโชบายในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย และรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ เพื่อปฏิบัติงานเชิงรุกในภาคสนามในการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แก่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย

สำหรับรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นรถต้นแบบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดสร้างเพิ่มเติม รวมเป็น 5 คันนี้ นำไปใช้งานควบคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยที่ได้พระราชทานไปแล้ว จำนวน 20 คัน ได้อย่างเหมาะสม สามารถเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายได้อย่างทันท่วงที เพื่อตรวจค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยง เป็นการจำกัดวงของการแพร่ระบาดของโรคให้แคบลง ส่งผลดีต่อการควบคุมโรคโดยส่วนรวม

รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ มีลักษณะเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ มีพื้นที่ใช้สอย 16.8 ตารางเมตร (7 เมตร x 2.4 เมตร) ภายในประกอบด้วย 3 ห้องหลัก ได้แก่ ห้องสกัดสารพันธุกรรม ห้องเตรียมน้ำยาวิเคราะห์และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิค PCR มีห้องบัฟเฟอร์เพื่อควบคุมและป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรค พร้อมกับเครื่องมือที่ติดตั้งภายในรถ ได้แก่ ตู้ปลอดเชื้อ ตู้ปฏิบัติงานพีซีอาร์ (PCR cabinet) เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกิริยาโพลีเมอเรส (real-time PCR) วิเคราะห์ได้ 70 ตัวอย่างต่อ 1 รอบต่อเครื่อง ตู้แช่แข็ง-20 องศาเซลเซียส ตู้ทำความเย็น 4 องศาเซลเซียส ช่องส่งตัวอย่าง เครื่องเขย่าผสมสาร เครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอน ไมโครปิเปต (micropipette) ระบบยูวีฆ่าเชื้อ ระบบสื่อสารสองทาง ระบบกล้องวงจรปิด และเครื่องล้างมือแอลกอฮอล์อัตโนมัติ
ด้วยสมรรถนะที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษของรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษนี้ จึงทำให้สามารถทราบผลการตรวจหาเชื้อได้ภายใน 3 ชั่วโมง โดยไม่ต้องส่งผลกลับไปตรวจที่ศูนย์การแพทย์ หรือห้องปฏิบัติการโรงพยาบาล และมีความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสามารถตรวจได้ ประมาณ 800-1,000 ตัวอย่างต่อวัน จึงช่วยในการค้นหาผู้ติดเชื้อได้รวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรค ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย

ขอขอบคุณที่มา : มติชน
https://www.matichon.co.th/court-news/news_2630272

ทั้งนี้ รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ดำเนินการโดย ผศ. ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และทีมวิจัย

คณะวิศวฯ จัดกิจกรรมคณบดีพบประชาคม TownHall Meeting

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ภารกิจยุทธศาสตร์และโครงการพิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมคณบดีพบประชาคม TownHall Meeting ณ ห้อง 201A-201B ชั้น 2 อาคารวิศวฯ 100 ปี และทางระบบออนไลน์ โดย ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี ได้นำเสนอภาพรวมผลการดำเนินงานของคณะวิศวกรรมศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา และทิศทางการขับเคลื่อนคณะวิศวกรรมศาสตร์ในอนาคต ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี รศ. ดร.อติวงศ์ สุชาโต รองคณบดี และ ผศ. ดร.สุภัทรา วิเศษศรี ผู้ช่วยคณบดี ได้นำเสนอถึงกลยุทธ์การดำเนินงานตาม Core Value: ACT NOW แก่ประชาคมกลุ่มคณาจารย์และบุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมี ผศ. ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดี เป็นผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีกิจกรรมลุ้นรางวัลจากคณบดี โดยการเล่น Bingo ผ่านแพลตฟอร์มลงทะเบียน “อยาก•ให้•มา (Yak•Hai•Ma)” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับการลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะฯ พัฒนาโดยคณะวิศวฯ จุฬาฯ

Road to วิศวศึกษา LEARN DO SHARE @ Chiang Mai

โครงการดี ๆ ที่เป็นเส้นทางตัวอย่างของการมีส่วนร่วมของบุคลากรคณะวิศวฯ จุฬาฯ สู่กิจกรรมที่เป็นไปตาม “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs” ผ่านการ “LEARN” การ “DO” และ การ “SHARE”
Chula Engineering “Innovation Toward Sustainability”
.

#ChulaEngineering #วิศวศึกษา #LearnDoShare

6 ภาคีองค์กรภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ไทย-ญี่ปุ่น จับมือ จัดตั้งคอนซอร์เทียมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่น

สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท.  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (TIChE) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Yokohama National University, Tokyo University of Agriculture and Technology และ The Japan Management Association ร่วมพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ เพื่อจัดตั้งคอนซอร์เทียมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่น (Thailand-Japan Smart Industrial Safety Consortium) ในวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ในงานสัมมนาออนไลน์ Thailand-Japan Smart Industrial Safety Forum 2021

พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ เพื่อจัดตั้งคอนซอร์เทียมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่นนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อผสานความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล ในด้านระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร การค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยี การกำหนดข้อบังคับและมาตรฐานด้านความปลอดภัย รวมทั้งการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอัจฉริยะของประเทศญี่ปุ่น มาสร้างให้เกิดความปลอดภัย และ เพิ่มประสิทธิภาพในโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศไทย รวมทั้งของภูมิภาคอาเซียน

ผู้แทนของภาคีเครือข่ายทั้ง 6 ต่างให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ไทยและญี่ปุ่นจะสามารถเสริมสร้างความร่วมมือในสร้างระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่น ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย พร้อมกันนี้ ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กล่าวเสริมว่า “ส.ส.ท. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นหนึ่งในองค์กร ที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านระบบความปลอดภัยอัจฉริยะในภาคอุตสาหกรรม  ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ ส.ส.ท. ที่มีฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ส.ส.ท. จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริม สนับสนุน และร่วมทำงานกับคอนซอร์เทียมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่น ได้อย่างเต็มความสามารถ”

คุณสุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (TIChE) กล่าวว่า “ทางสมาคมฯมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในจัดตั้งกลุ่มระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่นนี้ เนื่องจากงานทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัยนั้นมีพื้นฐานส่วนหนึ่งมาจากงานวิศวกรรมเคมี ดังนั้นทางสมาคมฯ จะอาศัยศักยภาพของสมาคมฯ ในด้านการเชื่อมโยงภาคการศึกษา กับ ภาคอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันสมาคมได้มีการจัดตั้งCommunity of Practice (CoP) ด้าน Process Safety เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความรู้ และ Best Practices เพื่อยกระดับความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม และ การเข้าร่วมกับกลุ่มระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะทำให้เกิดคุณประโยชน์อย่างสูงต่อสมาชิก และ ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตทางเคมี”

ในท้ายสุดนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้แทนของภาคีฝ่ายประเทศไทย ได้แจ้งแก่องค์กรภาคี และผู้เข้าร่วมทั้งหมดทราบว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความตระหนักในพันธกิจของการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่ในการผลิตวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถไปรับใช้สังคม คณะมีความเชื่อมั่น และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อผลิตทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นนิสิตนักศึกษาในระบบการอุดมศึกษา และผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถเพิ่มพูนองค์ความรู้ผ่าน แนวทาง Re-skill Up-Skill โดยอาศัยคอนซอร์เทียมระบบความปลอดภัยอัจฉริยะไทย-ญี่ปุ่นที่จัดตั้งขึ้นนี้”

ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่ง ที่ทำให้ทุกภาคส่วนได้แสดงศักยภาพ ร่วมมือกันค้นคว้า สร้างมาตรฐาน  และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงปลอดภัย โดยไม่หยุดยั้งทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

5 ภาคีเครือข่ายรวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคตร่วมสร้างอากาศบริสุทธิ์

กระทรวงพลังงาน ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ GISTDA จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กฟผ. ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต ในการจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม พร้อมชวนคนไทยร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและอากาศบริสุทธิ์

วันนี้ (4 มีนาคม 2564) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์การจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อม “Breathe our future รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต” พร้อมด้วย ศ. ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

ในโอกาสนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “พลังงานและอากาศ โอกาสชีวิตที่ยั่งยืน” ว่า พลังงานคืออนาคตและโอกาสที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำให้เกิดการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นโอกาสต่อยอดในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น สิ่งที่กระทรวงพลังงาน และ กฟผ. ตระหนักและให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงไม่ใช่แค่ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างโอกาสในการใช้ชีวิตให้ครบทุกมิติและสร้างความสุขให้ชีวิตคนไทย ซึ่งที่ผ่านมาคนไทยเคยร่วมมือกันสร้างก้าวย่างที่สำคัญในการอนุรักษ์พลังงานผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และในครั้งนี้จึงอยากเชิญชวนคนไทยให้มาร่วมมือกันอีกครั้งเพื่อสร้างพลังงานและอากาศที่บริสุทธิ์ด้วยกัน

ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า จากอดีตถึงปัจจุบัน กฟผ. มุ่งมั่นสร้างพลังแห่งความสุข ทั้งการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การดูแลชุมชนให้อยู่ดีมีสุข รวมถึงการดูแลคุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมผ่านเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และโครงการห้องเรียนสีเขียว รวมทั้งดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการปลูกป่า รักษาและลดการเผาป่า โดยจะต่อยอดการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นภายใต้แนวคิด EGAT Air TIME ประกอบด้วย

  • T (Tree) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มการดูดซับอากาศเสีย สร้างอากาศบริสุทธิ์ ผ่านโครงการปลูกป่า สร้างฝาย รวมไปถึงการดำเนินงานจิตอาสาป้องกันไฟป่า ลดการเผาป่า
  • I (Innovation)  การพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการจัดการคุณภาพอากาศ ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านการผลิตและใช้พลังงานสะอาด อาทิ โครงการโซลาร์ลอยน้ำ ยานยนต์ไฟฟ้า
  • M (Monitoring) ระบบตรวจวัดและแสดงผลคุณภาพอากาศด้วยแอปพลิเคชันรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คนรู้และตระหนักนำไปสู่การปรับพฤติกรรม ด้วยการติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ชุมชนรอบ กฟผ. และเครือข่ายห้องเรียนสีเขียว
  • E (Education & Engagement) การส่งเสริมองค์ความรู้ สร้างทัศนคติในการจัดการพลังงาน คุณภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการห้องเรียนสีเขียว ศูนย์เรียนรู้ กฟผ. รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน

โดยในปี 2564 กฟผ. มีแผนการติดตั้งจุดตรวจวัดฝุ่นละอองจำนวน 200 จุด ในพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เขต เขื่อนของ กฟผ. เครือข่ายห้องเรียนสีเขียว และสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมทั้งจัดกิจกรรมชาเลนจ์ “EGATลดละรอดปลอดฝุ่น”ชวนคนไทยแชร์ไอเดียลดฝุ่น พร้อมติดแฮชแท็ก #EGATลดละรอดปลอดฝุ่น #รวมพลังเพื่อลมหายใจแห่งอนาคต #EGATforALL ตั้งแต่ 12 – 30 มีนาคม 2564 ผ่านช่องทาง Facebook และ Instagram พร้อมส่งคำท้าไปยังเพื่อนอีก 5 คน เพื่อรวมพลังคนไทยร่วมรณรงค์สร้างอากาศบริสุทธิ์ด้วยกัน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาคุณภาพอากาศ และฝุ่น PM2.5 ซึ่งพบแนวโน้มการเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำหรับการลงนามบันทึกความร่วมมือในวันนี้จะเป็นการบูรณาการในด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการคาดการณ์มลพิษทางอากาศ และสร้างเครื่องมือสำหรับให้บริการข้อมูลในการติดตามสถานการณ์มลพิษทางอากาศ เพื่อแจ้งเตือนให้กับประชาชนได้รับทราบสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ มีความยินดียิ่งที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือในวันนี้ และพร้อมสนับสนุนข้อมูลคุณภาพอากาศจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ และการดำเนินงานในมิติต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ให้พี่น้องประชาชน  

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า GISTDA ให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบจำลองในการพยากรณ์คุณภาพอากาศ และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ PM2.5 ตามภารกิจซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดคุณค่าแก่สังคม โดยการใช้ข้อมูลภาพจากดาวเทียม และการร่วมมือกันครั้งนี้ถือเป็นความท้าทายที่ทุกหน่วยงานจะร่วมกันลดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการรับรู้สถานการณ์ การเฝ้าระวัง เตรียมตัวและพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ GISTDA จะร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายที่รับผิดชอบ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมและสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมเพื่อความยั่งยืน โดยจะร่วมศึกษา ออกแบบ และพัฒนาแบบจำลองการวิเคราะห์และการคาดการณ์ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมถึงประยุกต์ใช้ข้อมูลและการคาดการณ์ฝุ่น PM2.5 ร่วมกับข้อมูลดาวเทียม เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ และเทคโนโลยี Machine Learning ตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลปริมาณฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลเปิด (open data) การแสดงผลผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เพื่อรายงานผลคุณภาพอากาศและการแจ้งเตือนอัตโนมัติกรณีเข้าพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน

คณะวิศวฯ จัดกิจกรรม Big Cleaning Day ร่วมกันทำความสะอาดพื้นที่ทำงานเพื่อความปลอดภัยและความพร้อมในการให้บริการ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรม Big Cleaning Day ในวันที่ 1 มีนาคม 2564 โดยมีบุคลากร คณาจารย์ของคณะวิศวฯ ร่วมกันทำความสะอาดพื้นที่ทำงานส่วนตัว พื้นที่สำหรับปฏิบัติงาน วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการใช้งานภายในหน่วยงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภาควิชา
.
นอกจากนี้ทางคณะวิศวฯ ยังได้ร่วมกิจกรรม Covid-Free Chula Big Cleaning Day โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ดำเนินการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง โรงอาหาร ห้องเรียน และพื้นที่โดยรอบ เพื่อความปลอดภัยและความพร้อมในการให้บริการ บุคลากร นิสิต และผู้เข้าใช้บริการ ตามมาตรการความปลอดภัยของคณะวิศวฯ จุฬาฯ

ทีม Staplect จากจุฬาฯ ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge 2021

ขอแสดงความยินดีกับทีม Staplect จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge @ Sasin ทีม Staplect ประกอบไปด้วยสมาชิก นายกฤษฏิ์ อุทัยสาง (นิสิตระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) นายชวโรจน์ ทองโพช (นิสิตระดับปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ) นายธนภัทร์ พรศิริอนันต์ (นิสิตระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) และนางสาวนภัสสร ตรัยวิรัชกุล (นิสิตระดับปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ) และมีอาจารย์ ดร.จิง ถาง (อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ สำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ) เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาประจำทีม

Source: https://web.facebook.com/watch/live/?v=133150398679561
Source: https://web.facebook.com/watch/live/?v=133150398679561

การแข่งขัน SCG Bangkok Business Challenge จัดขึ้นโดยสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) โดยเป็นการแข่งขันสตาร์ทอัพสำหรับนักเรียนนักศึกษาที่มีการจัดมายาวนานที่สุดในเอเชีย สำหรับการแข่งขันในปี พ.ศ. 2564 ได้มีการจัดการแข่งขันขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้หัวข้อ “Growing Beyond Profit with Sustainable Innovation 2021” และมีผู้เข้าร่วมแข่งขับจำนวน 58 ทีมจาก 8 สถาบันการศึกษา

ทีม Staplect ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะเลิศ และได้รับเงินรางวัลจำนวน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และได้รับสิทธิการเข้ารอบการแข่งขันระดับโลกต่อไป

คณะวิศวฯ ขอแสดงความยินดีกับคณาจารย์เนื่องในโอกาสได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์”

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีแด่
ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ ศรีเจริญชัยกุล (ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม)
ศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล (ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม)
ศาสตราจารย์ ดร.มานะ ศรียุทธศักดิ์ (ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า)
ศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ปิ่นแก้ว  (ภาควิชาวิศวกรรมโยธา)
ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ เรืองรัศมี (ภาควิชาวิศวกรรมโยธา)
เนื่องในโอกาสได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์”

แนวทางการสอนแบบออนไลน์/ออฟไลน์ คณะวิศวฯ จุฬาฯ


รูปแบบที่ 1: การใช้ห้องเรียนเพื่อทำการเรียนการสอนโดยใช้เสียงในห้องเรียนผ่านไมโครโฟนห้องและโปรแกรมซูมจากเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนกลางที่อยู่ในห้องเรียนนั้น ๆ


รูปแบบที่ 2: การใช้ห้องเรียนเพื่อทำการเรียนการสอนในกรณีที่นำคอมพิวเตอร์ / surface / ipad ส่วนตัวมาใช้งาน
ห้องเรียนที่ถูกจัดไว้รองรับวิธีการนี้: ห้องเรียนภายในอาคารวิศวฯ ตึก 3 สำรองห้องเรียนสำหรับจัดการเรียนการสอน ที่หมายเลข 02-218-6300 (คุณดวงตา ฝ่ายวิชาการ)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า