จังหวัดฉะเชิงเทราจับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล น้ำ อากาศ และขยะ ให้ประชาชนเข้าถึงง่าย

จากการที่รัฐบาลได้เลือกให้จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในเมืองสมาร์ทซิตี้ วันนี้ (10 ม.ค. 66) ที่ห้องรับรอง ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผวจ.ฉะเชิงเทรา ร่วมกับ รศ. ดร.เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมทีมงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล ด้านสิ่งแวดล้อม น้ำ อากาศ และขยะ โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการ 1 ปี เพื่อเก็บข้อมูล รวบรวมเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล เพื่อพยากรณ์ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ของเมืองแปดริ้ว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตของชาวแปดริ้ว

รศ. ดร.เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ หัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวว่า แพลตฟอร์มดิจิทัลคือการสร้างเว็บไซต์ หลังจากรวบรวมฐานข้อมูลแล้ว จะแบ่งการเข้าถึงออกเป็น 3 ส่วน คือ ภาคราชการ ภาคอุตสาหกรรม และประชาชน

ทางด้าน ผวจ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวว่า การลงนาม MOU เพื่อสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล ด้านสิ่งแวดล้อม จะเป็นเครื่องมือให้จังหวัดฉะเชิงเทรา ดูแลสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดฉะเชิงเทรา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ขอแสดงความยินดีแด่คณาจารย์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ “รองศาสตราจารย์” และ “ผู้ช่วยศาสตราจารย์”

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีแด่คณาจารย์ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ดังนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี
เนื่องในโอกาสได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ตำแหน่ง “รองศาสตราจารย์”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุศวรรณ บิดร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เนื่องวงศ์ ทวยเจริญ
เนื่องในโอกาสได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ ตำแหน่ง “ผู้ช่วยศาสตราจารย์”

พิธีส่งมอบฝายวิศวพัฒน์ 6 ณ บ้านเชตวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน

เมื่อวันที่ 18-26 ธันวาคม 2565 ณ บ้านเชตวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน นิสิตค่ายวิศวพัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เดินทางไปทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน โดยได้ร่วมสร้างฝายยกระดับน้ำ ฝายกักน้ำเพื่อติดตั้งปั๊มตะบันน้ำ และระบบปั้มน้ำโซล่าเซลล์สำหรับดึงน้ำเพื่อใช้ในแปลงเกษตร ได้ทำการสำรวจข้อมูลของชาวบ้านสมาชิกกลุ่มน้ำเพี้ยโมเดลทั้งแปลงต้นแบบ และแปลงขยายผล เพื่อนำมาสรุปเพื่อต่อยอดการทำกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ต่อไป ณ บ้านเชตวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน

 

ทั้งนี้ ผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบลสันทะ และชาวบ้านได้ร่วมกัน ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับนิสิตค่ายและคณาจารย์ เพื่อเป็นสิริมงคล

 

และในวันที่ 25 ธันวาคม 2565 มีพิธีส่งมอบฝายวิศวพัฒน์ 6 ณ ฝายยกระดับน้ำ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดีจุฬาฯ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต นิสิตค่ายวิศวพัฒน์ และผู้แทนบริษัท เคมีแมน ผู้แทนบริษัท TPI โดยมีท่านนายอำเภอนาน้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสันทะ หน่วยงานท้องถิ่นและชาวบ้านรับมอบฝายดังกล่าว เพื่อใช้ในสาธารณประโยชน์ของชุมชนและดูแลรักษาสืบไป

 

 

คณะผู้บริหารและบุคลากร คณะวิศวฯ ได้เดินทางไปเยี่ยม “ค่ายวิศวพัฒน์ 6” ณ บ้านเชตวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน และศึกษาดูงาน ณ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ จังหวัดน่าน

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เดินทางไปเยี่ยม “ค่ายวิศวพัฒน์ 6” ซึ่งชมรมนิสิตทุนคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนิสิตวิศวฯ ได้เดินทางไปทำกิจกรรมจิตอาสาสร้างฝายยกระดับน้ำ โครงการพัฒนาระบบชลประทานเพื่อการเกษตร ณ บ้านเชตวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน
และในวันที่ 23 ธันวาคม 2565 คณะผู้บริหารและบุคลากรได้ไปศึกษาดูงาน ณ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมชาย ธนวัฒนาเจริญ ผู้รักษาการแทนคณบดีสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ให้การต้อนรับ
ผู้บริหารและบุคลากรคณะวิศวฯ เยี่ยม “ค่ายวิศวพัฒน์ 6” ณ บ้านเชตวัน ตำบลสันทะ อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผู้บริหารและบุคลากรคณะวิศวฯ ศึกษาดูงาน ณ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาฯ จังหวัดน่าน

 

 

 

 

 

 

 

 

พิธีเปิด “ค่ายฟันเฟืองสานฝัน ครั้งที่ 21” ณ โรงเรียนสามโก้วิทยาคม จ.อ่างทอง

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 อาจารย์ ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง ผู้ช่วยคณบดี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่งานกิจการนิสิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปเปิด “ค่ายฟันเฟืองสานฝัน ครั้งที่ 21” ณ โรงเรียนสามโก้วิทยาคม จ.อ่างทอง

กิจกรรมนี้เป็นค่ายสอนหนังสือ สร้างความรู้ความเข้าใจ แนะแนวทางในการศึกษาต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดโดยน้อง ๆ นิสิตชมรมวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 17-25 ธันวาคม 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ขอแสดงความยินดีกับคุณกำพล แสงทับทิม นิสิตหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ในโอกาสได้รับรางวัล Originality Award ในงาน Tokyo Tech Academy for Convergence of Materials and Informatics (TAC-MI) Intelligent Services: a Social Perspective Workshop 2022

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับคุณกำพล แสงทับทิม นิสิตหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ในโอกาสได้รับรางวัล Originality Award จากการร่วมนำเสนอแนวคิดการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในงาน Tokyo Tech Academy for Convergence of Materials and Informatics (TAC-MI) Intelligent Services: a Social Perspective Workshop 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ Tokyo Bay Makuhari Hall จังหวัดจิบะ ประเทศญี่ปุ่น

งาน TAC-MI Intelligent Services: a Social Perspective Workshop 2022 จัดขึ้นโดย Tokyo Institute of Technology เพื่อให้นิสิตระดับปริญญาเอกได้มีโอกาสนำเสนอบริการที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาที่พบในสังคมได้โดยมีธีมสำหรับการแข่งขันในปีนี้คือ Innovative society with AI by materials and informatics

ปัจจุบันคุณกำพล แสงทับทิม เป็นนิสิตปริญญาเอก ปีที่ 2 ทุน C2F ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม อาจารย์ ดร.จิง ถาง หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ สำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ขอแสดงความยินดีกับคณาจารย์และคณะ ที่ได้รับรางวัลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับคณาจารย์และคณะ ที่ได้รับรางวัลจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดังนี้

รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2566 รางวัลระดับดีมาก : ผลงานเรื่อง เท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการขาขาดที่แข็งแรง (Dynamic Foot for Active Lower Limb Amputee)

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัญญาพันธ์ วิรุฬห์ศรี ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และคณะ


รางวัลวิทยานิพนธ์ ประจำปีงบประมาณ 2566รางวัลระดับดี : วิทยานิพนธ์เรื่อง ความยืดหยุ่นของโครงสร้างทางรถไฟแบบมีชั้นหินโรยทางภายใต้อุณหภูมิสุดขีด (Resilience of Ballasted Railway Tracks Exposed to Extreme Temperature)

โดย : ดร.ชยุตม์ งามโขนง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

คณะวิศวฯ ร่วมเปิดบูธแสดงนวัตกรรมและงานวิจัยทางด้านพลังงาน ในงาน ADIPEC 2022

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับเชิญมาร่วมเปิดบูธแสดงศักยภาพนวัตกรรมและงานวิจัยทางด้านพลังงาน ในงาน ADIPEC 2022 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นงานทางด้าน oil, gas & energy ที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นงานที่รวมทั้งเทคโนโลยี, policy makers, CEO ในด้านนี้มาร่วมกันหาทางสำหรับ energy transition

โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้นำ 2 ผลงาน ได้แก่ “zinc air battery” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเทพ เขียวหอม หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเคมี นายวัชระพิศุทธ ธนพงศ์อมร นิสิตระดับปริญญาเอก และนายกิจชัย กาญจนประภากุล นายช่างอิเลคทรอนิกส์ชำนาญงาน ภาควิชาวิศวกรรมเคมี และงานวิจัย “Deep Energy, AI platform for energy” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พีรพล เวทีกูล และ น.ส.มนัสกานต์ เสน่หา นิสิตระดับปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มาร่วมออกบูธ ซึ่งได้รับความสนใจจาก CEO และผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย ยังได้เข้าร่วม conference อีกด้วย

รับชมคลิปงาน ADIPEC 2022 ได้ที่ https://youtu.be/t9SywiovM0Y

เชลล์ฮัทฯ จับมือ จุฬาฯ นำ “เชลล์ดอน” บรรจุลงคอร์สออนไลน์ สร้างความตระหนักรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการเรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงาน“Shelldon ชวนน้องรักษ์โลก เรื่องมลพิษทางทะเล” ด้วยการนำคอนเทนต์ซีรี่ส์แอนิเมชั่น เชลล์ดอน เข้ามา เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่ให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ยอดนิยมอย่าง CHULA MOOC โดยมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการทำให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ที่ ตึกเพกาซัส ชั้น 5 อาคาร 101 True Digital Park เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565

“เชลล์ดอน” เป็นแอนิเมชั่นฝีมือคนไทย ที่สร้างโดย ดร. ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ CEO & Founder บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด  ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งในประเทศไทย และได้รับการจัดฉายทางช่อง NBC ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมทั้งกว่า 180 ประเทศทั่วโลก พร้อมถูกแปลไปกว่า 35 ภาษา ด้วยตัวละครที่น่ารัก เนื้อเรื่องที่สนุกสนาน พร้อมสาระความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล และยังคงอยู่ในใจผู้ชมมาตลอด 14 ปี พร้อมกับการได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นทูตสิ่งแวดล้อมที่ยังคงส่งต่อความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านโครงการ CSR ไม่ว่าจะเป็น Shelldon School Tour หรือ Shelldon 3E ที่พัฒนาคอร์สออนไลน์ด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพราะเหตุนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนรู้ และสามารถจะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการนำเสนอชุดความรู้ผ่านเหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆของซีรี่ส์แอนิเมชั่นเรื่องเชลล์ดอน ซึ่งพัฒนาโดยคณาจารย์นักวิชาการระดับประเทศและระดับโลก และนำเข้ามาเป็นหนึ่งในวิชาเรียนด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านคอร์สเรียนออนไลน์ยอดนิยมอย่าง CHULA MOOC จนเกิดเป็นโปรเจกต์ Shelldon ชวนน้องรักษ์โลก เรื่องมลพิษทางทะเล ขึ้นนั่นเอง

พร้อมกันนี้ ดร.ชวัลวัฒน์ ในฐานะของผู้สร้าง Animation Shelldon เผยว่า ตนเองมีความยินดีอย่างยิ่งที่เรื่องราวของเชลล์ดอน โดยเฉพาะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นชุดความรู้ตามหลักวิชาการโดยคณาจารย์ นักวิชาการระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งมีการนำเสนอได้น่าสนใจ สนุก และเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการดูและรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคต

นอกจากนี้ ในตัวเอกสารประกอบการเรียนรู้ ทางทีมงานได้มีการออกแบบเนื้อหาและแบบฝึกหัดเพื่อเข้าถึงเด็กเล็กที่จะสามารถเรียนรู้ร่วมกันกับผู้ใหญ่ภายในครอบครัวได้ หรือเด็กโตที่จะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองอีกด้วย ซึ่ง ดร.ชวัลวัฒน์ หวังว่าโครงการ Shelldon 3E จะเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ผ่านการสร้างความรู้ ความตระหนัก และความรักในท้องทะเล เพื่อที่จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีจิตสาธารณะในการร่วมดูแลรักษาท้องทะเลของพวกเราให้มีความยั่งยืนต่อไป

และอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของงาน นั่นคือช่วง Environmental Education Talk ที่มีการร่วมพูดคุยกันระหว่าง ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Pro-gram (ILP) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ คุณคณิน แก้วอินทร์ ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัท เชลล์ฮัท เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกและของประเทศไทย บทบาทและแนวทางการแก้ไขปัญหาของแต่ละภาคส่วน การร่วมมือกันเพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และอนาคตของสิ่งแวดล้อมศึกษาที่จะต้องสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดีและเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย ซึ่งนับว่าจุดประเด็นและได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนในงาน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้และอยากมีส่วนร่วมในการรักษ์โลกไปด้วยกัน

โดยในงานได้  พีเค ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร มารับหน้าที่เป็นพิธีกร ซึ่งตัวพีเคเองนั้น นอกจากจะเคยได้รับหน้าที่เป็นผู้พากย์เสียง เฮอร์แมน ปูเสฉวนเพื่อนซี้ของเชลล์ดอน แล้วตัวเขาเองยังรู้สึกมีส่วนร่วมและตระหนักในเรื่องรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยพีเคได้กล่าวเชิญชวนว่า  โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจ และน่าลงทะเบียนเรียนคอร์สนี้มาก ๆ เพราะเป็นการนำเอาเหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเชลล์แลนด์ มาร้อยเรียงเป็นชุดความรู้ตามหลักวิชาการโดยคณาจารย์ และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและระดับโลก เพื่อให้ง่าย น่าสนใจและเข้าถึงคนทั่วไปได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการดูและรักษาสิ่งแวดล้อมในอนาคต  โดยเผยแพร่ผ่านแพล็ตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ของจุฬาฯ หรือ CHULA MOOC ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันครั้งยิ่งใหญ่ในการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยแถลงข่าวความร่วมมือกันไปเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา

ผู้ที่สนใจสามารถเริ่มเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป #Shelldon3E #Shelldon #ShellhutEntertainment #TandBKids #จุฬา #CU #CUMOOC #MOOC #คอร์สเรียนฟรีจุฬา #เรียนแล้วได้ใบเซอร์ #MarinePollution

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็ก ระบบติดตาม

เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภราดา ดร.อาวุธ ศิลาเกษ ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญ ร่วมกับ พลเอก ชูชาติ บัวขาว ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยเป็นความร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็ก ระบบติดตาม และสื่อสาร ณ ห้องประชุม ออดิทอเรียม (Auditorium) โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก กรุงเทพฯ

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนอัสสัมชัญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและยานยนต์ไร้คนขับ การพัฒนาบุคลากร และร่วมกัน พัฒนา เผยแพร่ และให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศ แก่เยาวชนไทยผ่านศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ และชมรมเทคโนโลยีการบินและอวกาศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภายในงานยังมีการนำเสนอผลงานของนักเรียนที่สนใจด้านเทคโนโลยีอวกาศและการบิน “ชมรมสเปส เอซี (SPACE AC)” ในมุมมองนักเรียน โดย นายสุวิจักขณ์ ปิยะนพโรจน์ สมาชิกศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ รวมถึงนิทรรศการผลงานของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญที่ได้รับรางวัลแชมป์โลก จากการแข่งขัน Annual CanSat Competition 2022 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และรับชมศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ ณ ชั้น 6 อาคารอัสสัมชัญ 2003 โรงเรียนอัสสัมชัญ เขตบางรัก กรุงเทพฯ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าวใช้เป็นห้องปฏิบัติการของนักเรียนชมรมสเปส เอซี (SPACE AC) บันทึกความร่วมมือนี้ จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการดึงจุดแข็งของทั้งสามหน่วยงานระดับชาติมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อการพัฒนาบุคคลากรรุ่นใหม่ ๆ มาสร้างความเข้มแข็งของประเทศไทยต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า