คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับ นายธนากร สรรพกิจ นิสิตชั้นปีที่ 4 ในโอกาสที่ได้รับทุนการศึกษา “ทุนเยาวชนคุณภาพแห่งปี 2024” จาก มสวท.

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับ นายธนากร สรรพกิจ นิสิตชั้นปีที่ 4 หลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ในโอกาสที่ได้รับทุนการศึกษา “ทุนเยาวชนคุณภาพแห่งปี 2024” (Quality Youths Scholarship of The Years 2024) พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ จากมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) เมื่อศุกร์ที่ 18 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรม Centara Life Government Complex Hotel & Convention Centre
.
ทุนเยาวชนคุณภาพแห่งปี 2024 เป็นทุนการศึกษาที่มอบให้กับนิสิต นักศึกษาจากสถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วปรเทศ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนได้เห็นคุณค่าของตนเอง และการทำผลงานหรือกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ด้วยการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์ ดร.รณพีร์ ชัยเชาวรัตน์ ในโอกาสที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2567

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ รองคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองคณบดี และศาสตราจารย์ ดร.เดวิด บรรเจิดพงศ์ชัย รองผู้อำนวยการสำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ ได้ไปร่วมแสดงความยินดีแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.รณพีร์ ชัยเชาวรัตน์ อาจารย์ประจำสำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ กับผลงานวิจัยเรื่อง หุ่นยนต์สวมใส่บนร่างกายผสานการขับเคลื่อนด้วยล้อสนับสนุนการเคลื่อนไหวมนุษย์ ในโอกาสที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2567 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีแด่ ศ. ดร.ไพโรจน์ สิงหถนัดกิจ เนื่องในโอกาสได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขอแสดงความยินดีแด่ ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ สิงหถนัดกิจ
เนื่องในโอกาสได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป
#ChulaEngineering #วิศวจุฬา #Chula

โครงการบริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการ CU Blood และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จัดโครงการบริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ ห้อง i-think คณะวิศวฯ จุฬาฯ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี กล่าวเปิดโครงการฯ พร้อมด้วย ผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนิสิตเข้าร่วมกิจกรรม
.
โครงการบริจาคโลหิตเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนโลหิตสำรองของสภากาชาดไทย ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกแห่งการเป็นผู้ให้ด้วยหัวใจและการมีจิตสาธารณะเพื่อช่วยเหลือสังคม ร่วมใจกันทำความดีเพื่อประโยขน์ส่วนรวม
.
ทั้งนี้ ขอเชิญคณาจารย์ บุคลากร นิสิตจุฬาฯ และผู้สนใจร่วมบริจาคโลหิต ครั้งที่ 2 ในวันที่ 21,22,24,25 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์บริการโลหิตสภากาชาดไทย
.
ลงทะเบียนร่วมบริจาคโลหิตเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล https://forms.gle/6FunR8R4LGurM2fH7
.
รับของที่ระลึก “พวงกุญแจหมี” สำหรับผู้บริจาคโลหิต

วิศวฯ จุฬาฯ และ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการศึกษา และเปิดตัวห้องปฏิบัติการ Delta Power Electronics

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จัดพิธีเปิดตัวห้องปฏิบัติการ Delta Power Electronics อย่างเป็นทางการที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมกับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างจุฬาฯ และเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เพื่อส่งเสริมงานวิจัย การพัฒนา และการศึกษาในด้าน Power Electronics
.
รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานในพิธี ร่วมกับแขกผู้มีเกียรติ นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
.
รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ในการมอบประสบการณ์การเรียนรู้ในด้านอิเล็กทรอนิกส์กำลังให้กับนักศึกษา ห้องปฏิบัติการแห่งนี้จะช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ และให้นักศึกษาได้สัมผัสกับเทคโนโลยีล้ำสมัย ซึ่งจะเตรียมความพร้อมให้กับพวกเขาในอนาคต ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะพัฒนาวิศวกรรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของประเทศไทย”
.
ห้องปฏิบัติการ Delta Power Electronics: พัฒนาทักษะวิศวกรแห่งอนาคต
ห้องปฏิบัติการ Delta Power Electronics ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของวิศวฯ จุฬาฯ ห้องปฏิบัติการนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ พร้อมด้วยอุปกรณ์ที่ล้ำสมัย ทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสทดลองใช้งานอิเล็กทรอนิกส์กำลัง และนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม โดยการผสมผสานการใช้งานจริงเข้าไปในหลักสูตร ห้องปฏิบัติการนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาในอิเล็กทรอนิกส์กำลัง
.
ห้องปฏิบัติการดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของประเทศ ซึ่งเน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ความริเริ่มนี้จะช่วยสนับสนุนความพยายามของจุฬาฯ ในการพัฒนาทักษะวิศวกรที่มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
.
การลงนาม MOU เพื่อความร่วมมือทางการศึกษาที่เป็นเลิศ
การลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่างบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) และวิศวฯ จุฬาฯ ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษา ข้อตกลงนี้มุ่งเน้นการเสริมสร้างหลักสูตรทางการศึกษา สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม และสร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการและโครงการสหกิจศึกษา ด้วยความร่วมมือนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์มุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรมและพัฒนาทักษะที่สำคัญต่ออนาคตของวิศวกรไทย
.
“เราตื่นเต้นที่ได้เห็นการเติบโตของความร่วมมือครั้งนี้” รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา กล่าวเสริม “เราจะทำงานร่วมกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและมีส่วนร่วมในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม”
.
คุณ Victor Cheng ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือครั้งนี้ว่า “บันทึกข้อตกลงฉบับนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงพลังของความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ที่จะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมและสังคมโดยรวม ความมุ่งมั่นของเราคือการสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ของประเทศไทย ให้มีทักษะและความรู้เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคต และช่วยพัฒนาประเทศต่อไป”

 

คณะวิศวฯ จุฬาฯ โดย ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ จัดงานเสวนา “เข้าใจน้ำท่วม แนวคิดวิศวกร” #สังคมมีปัญหาจุฬาฯมีคำตอบ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา “เข้าใจน้ำท่วม แนวคิดวิศวกร” #สังคมมีปัญหาจุฬาฯมีคำตอบ โดยมี คุณวิโรจน์ เจริญตรา นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ กล่าวต้อนรับ รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวฯ จุฬาฯ กล่าวเปิดงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม คณะวิศวฯ จุฬาฯ
.
ในช่วงแรกได้รับเกียรติจาก ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาร่วมพูดคุยถึงเรื่อง “การบริหารจัดการในพื้นที่น้ำท่วม” จากนั้นเป็นการเสวนา โดยได้รับเกียรติจากคุณชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ ทีมกรุ๊ป บริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ และนายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่อง “การคาดการณ์ การเตรียมตัว และการป้องกัน” รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเรื่อง “การบริหารจัดการในพื้นที่น้ำท่วม” ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าภาควิชาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คณะวิศวฯ จุฬาฯ กล่าวถึงเรื่อง “ข้อคิดข้อสังเกตทางเทคนิคของปัญหาจากน้ำท่วม” และ ดร.สุกิจ วิเศษสินธุ์ ที่ปรึกษาโครงการและการประยุกต์ใช้ระบบ บริษัท จีไอเอส จำกัด กล่าวถึง “การวิเคราะห์เชิงคาดการณ์สถานการณ์อุทกภัย และการถอดบทเรียน” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี คณะวิศวฯ จุฬาฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการศึกษา เพื่อมุ่งยกระดับนิสิตนักศึกษาเชื่อมต่อสู่โลกอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ณ อาคารออดิทอเรียม โรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองคณบดี ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การส่งเสริมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการศึกษา ระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.นภดนัย อาชวาคม รองคณบดี ร่วมกล่าวแสดงเจตนารมณ์ต่อความร่วมมือในครั้งนี้ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ รองคณบดี ศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ สิงหถนัดกิจ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นักสิทธ์ นุ่มวงษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน
การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาผ่านการเรียนรู้ และลงมือทำงานในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง ส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเข้าทางานของนิสิตนักศึกษากับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
หลังจากจบพิธีฯ ผู้บริหารและคณาจารย์คณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้เข้าเยี่ยมชมสายการผลิตโรงงานบ้านโพธิ์และศูนย์การเรียนรู้ฯ ชีวพนาเวศอีกด้วย

คณะวิศวฯ จุฬาฯ จัดงานแสดงมุทิตาจิตแด่บุคลากรที่เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2567

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานแสดงมุทิตาจิตแด่บุคลากรที่เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2567 พร้อมทั้งได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “ศรีอินทาเนีย” เพื่อเป็นที่ระลึกและขอบคุณคณาจารย์ บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ เปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นระยะเวลานาน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี เป็นประธานในพิธี

 

 

รายนามผู้เกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ 2567
(เรียงตามตัวอักษร)
1. นางทองจันทร์ ตามสอน ภารกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ
2. นางพิมพ์ใจ พูลมี กลุ่มภารกิจบริหารระบบกายภาพ
3. นายพิบูลย์ เกิดโภคทรัพย์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
4. นางภัทรานิษฐ์ ฉัตรทองเจริญ ภารกิจการเงินบัญชีและพัสดุ
5. นางวริศรา รุมดอน ภารกิจบริหารและธุรการ
6. นายวุฒิชัย เรืองดำรงค์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
7. นางวะรีทิพย์ เจริญไว้สมบัติ ภารกิจการเงินบัญชีและพัสดุ
8. นางสงวน ภู่ระหงษ์ ฝ่ายบริหาร
9. นายสามารถ บริบูรณ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
10. ว่าที่ร้อยตรี สุขสันต์ เชิดสูงเนิน ภารกิจบริการเทคโนโลยีการเรียนรู้
.
รายนามผู้ลาออกก่อนเกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ 2567
(เรียงตามตัวอักษร)
1. รองศาสตราจารย์ ดร.จิรพงศ์ กสิวิทย์อำนวย
2. รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิต ธงทอง
3. ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
4. รองศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์
5. นางวงศ์วิภา ชาวอบทม
6. นางสุกัญญา เจตะภัย

 

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับคณาจารย์วิศวฯ ที่ได้รับทุนวิจัย มูลนิธิกระจกอาซาฮี ประเทศญี่ปุ่น ประจำปี 2567

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุม 202 และ 203 อาคารจามจุรี 4 สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิกระจกอาซาฮี ประเทศญี่ปุ่น จัดการประชุมสัมมนาพิเศษ ครั้งที่ 32 (The 32nd Special CU-af Seminar 2024) และพิธีมอบทุนวิจัย มูลนิธิกระจกอาซาฮี ประเทศญี่ปุ่น ประจำปี 2567 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวต้อนรับและเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา รองศาสตราจารย์ ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้รักษาการผู้ช่วยอธิการบดี กล่าวรายงาน
ภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิจัยของผู้ได้รับทุนวิจัย มูลนิธิกระจกอาซาฮี ในปี 2565-2566 ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ และ Mr. Takuya Shimamura ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี ประเทศญี่ปุ่น ร่วมพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมูลนิธิกระจกอาซาฮี ประเทศญี่ปุ่น จากนั้น Mr. Takuya Shimamura ประธานมูลนิธิกระจกอาซาฮี ประเทศญี่ปุ่นกล่าวแสดงความยินดี และมีพิธีมอบทุนวิจัยประจำปี 2567 แก่อาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ จำนวน 11 ท่าน รวมทั้งมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “The Future of Research : How AI Will Make Us Smarter (Without Marking Us Lazy)” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวฯ จุฬาฯ
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ไปร่วมงานฯ และร่วมแสดงความยินดีกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชยุตม์ งามโขนง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ประเสริฐเจริญสุข ภาควิชาวิศวกรรมเคมี ในโอกาสที่ได้รับทุนวิจัย มูลนิธิกระจกอาซาฮี ประเทศญี่ปุ่น ประจำปี 2567

คณะวิศวฯ จุฬาฯ จับมือ เทศบาลตำบลเทพราช จังหวัดฉะเชิงเทรา ลงนาม MOU การพัฒนาความมั่นคงในการจัดการสิ่งแวดล้อมของจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณพลากร โชคตพิชิตชัย นายกเทศมนตรีตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาความมั่นคงในการจัดการสิ่งแวดล้อมของจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ กับ เทศบาลตำบลเทพราช โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คณะวิศวฯ จุฬาฯ นายสาครินทร์ จำปา หัวหน้าสำนักงานเมืองอัจฉริยะ จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย คณะผู้บริหารจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คณะผู้บริหารจากเทศบาลตำบลเทพราช และคณะผู้บริหารจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะ จังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องสวนรวมใจ 1 อาคาร 3 คณะวิศวฯ จุฬาฯ
การลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ เทศบาลตำบลเทพราช จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เล็งเห็นถึงการพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืนตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่อง โดยมิติการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในมิติที่สำคัญเนื่องจากพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) และมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ทั้งนอกและในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและสวนอุตสาหกรรม การบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องมีการวางแผนการพัฒนาร่วมกัน เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนโดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า