คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของบัณฑิตใหม่ทุกคน และขอเชิญบัณฑิตคณะวิศวฯ ลงทะเบียนสมาชิกสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ (สวจ.) และรับของขวัญพิเศษน้อง “หมีเกียร์” ในวันรับปริญญา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของบัณฑิตใหม่ทุกคน และเพื่อเป็นการต้อนรับสู่บทบาทใหม่ของการเป็น new Intania alumni
.
ขอเชิญบัณฑิตคณะวิศวฯ จุฬาฯ ลงทะเบียนสมาชิกสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ (สวจ.) และรับของขวัญพิเศษเป็นน้อง “หมีเกียร์”
ในวันรับปริญญา วันที่ 3-4 ตุลาคม 2567
เวลา 12.00 – 16.00 น.
ณ บริเวณที่ราบสูง ลาน Intania (ลานเกียร์)
.
จำกัด 1 ตัว ต่อคน (จำนวนจำกัด)
รับด้วยตนเองในวันงานเท่านั้น
.
ขั้นตอนการรับของที่ระลึก
1. สมัครสมาชิกสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ ผ่านทาง Line Official @IntaniaAlumni หรือเว็บไซต์ https://alumni.intania.com
2. ลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม “บัณฑิตใหม่ ลงทะเบียนรับของที่ระลึก น้องหมีเกียร์”
3. รับของที่ระลึกในวันงาน โดยแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือ เบอร์โทรศัพท์
#ChulaEngineering #วิศวจุฬา #Intania

ขอเชิญร่วมถ่ายภาพหมู่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต คณะวิศวฯ จุฬาฯ เนื่องในโอกาสพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566

ขอเชิญร่วมถ่ายภาพหมู่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เนื่องในโอกาสพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566
.
ในวันพฤหัสบดีที่ 3 และ วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม 2567
ณ บริเวณป้ายแบรนด์ Chula Engineering ลานอินทาเนีย (ลานเกียร์)
.
พิเศษรับของที่ระลึก “น้องหมีเกียร์” ในวันรับปริญญา
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.facebook.com/ChulaEngineering

 

คณะวิศวฯ จุฬาฯ และ บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ ร่วมลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาและยกระดับการเรียนการสอนและการวิจัย ด้านอุตสาหกรรมการบริการการบินและวิศวกรรมอากาศยานให้กับนิสิตหลักสูตรวิศวกรรมอากาศยาน

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 สำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ (ISE) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ กับ บริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ พลอากาศโทเดชิศร์ เจริญวงศ์ ประธานกรรมการบริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกความร่วมมือฯ รองศาสตราจารย์ ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ รองคณบดี และรักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ พร้อมด้วย นางสงวน ภู่ระหงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ผู้บริหารและคณาจารย์จาก ISE และผู้แทนจากบริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยาน

 

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันส่งเสริม พัฒนา และยกระดับการเรียนการสอนและการวิจัย ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการบริการการบิน ด้านวิศวกรรมอากาศยาน ให้กับนิสิตหลักสูตรวิศวกรรมอากาศยาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อให้นิสิตได้พัฒนาทักษะ เรียนรู้การปฏิบัติงานด้านสายการบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบูรณาการความรู้จากการเรียนการสอนกับสถานการณ์ในการทำงานที่เกิดขึ้นจริง เพื่อเป็นการสร้างกลุ่มคนที่มีศักยภาพตอบสนองความต้องการของประเทศ

 

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการแข่งขัน ASEAN-CHINA-INDIA Youth Leadership Summit 2024 และได้เป็นทีมตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน SUSTAINABILITY STARTATHON: GRAND FINALS ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 จากการแข่งขัน ASEAN-CHINA-INDIA Youth Leadership Summit 2024 และได้เป็นทีมตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน SUSTAINABILITY STARTATHON: GRAND FINALS ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์
.
สมาชิกในทีม ได้แก่
1. นางสาวธีริศรา รุ่งขวัญศิริโรจน์ (ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์)
2. นายคณุตม์ ทรัพย์ทวีชัยกุล (BBA International Program)
3. นางสาวณัฐธยาน์ ฉันทอธิพงศ์ (BBA International Program)
4. นายเบญจมินทร์ ศรีศุภปรีดา (BBA International Program)
5. นายกฤตภาส อนันตศิลป์ (BBA International Program)
.
การแข่งขัน ASEAN-CHINA-INDIA Youth Leadership Summit 2024 เป็นการแข่งขันเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วภูมิภาคมีโอกาสสํารวจและเรียนรู้ในหัวข้อสําคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นํา ซึ่งมีเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมแข่งขันกว่า 12 ประเทศ

 

 

ขอเชิญร่วมงานแสดงมุทิตาจิตแด่บุคลากรที่เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2567

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอเชิญร่วมงานแสดงมุทิตาจิตแด่บุคลากรที่เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2567
.
งานเกษียณรำลึก
.
ในวันจันทร์ที่ 30 กันยายน 2567 เวลา 10.00 – 13.00 น.
ณ หอประชุม 117 ชั้น 1 อาคาร 3 คณะวิศวฯ จุฬาฯ

.

รายนามผู้เกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ 2567
(เรียงตามตัวอักษร)
1. นางทองจันทร์ ตามสอน ภารกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ
2. นางพิมพ์ใจ พูลมี กลุ่มภารกิจบริหารระบบกายภาพ
3. นายพิบูลย์ เกิดโภคทรัพย์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
4. นางภัทรานิษฐ์ ฉัตรทองเจริญ ภารกิจการเงินบัญชีและพัสดุ
5. นางวริศรา รุมดอน ภารกิจบริหารและธุรการ
6. นายวุฒิชัย เรืองดำรงค์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
7. นางวะรีทิพย์ เจริญไว้สมบัติ ภารกิจการเงินบัญชีและพัสดุ
8. นางสงวน ภู่ระหงษ์ ฝ่ายบริหาร
9. นายสามารถ บริบูรณ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
10. ว่าที่ร้อยตรี สุขสันต์ เชิดสูงเนิน ภารกิจบริการเทคโนโลยีการเรียนรู้
.
รายนามผู้ลาออกก่อนเกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ 2567
(เรียงตามตัวอักษร)
1. รองศาสตราจารย์ ดร.จิรพงศ์ กสิวิทย์อำนวย
2. รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิต ธงทอง
3. ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์
4. รองศาสตราจารย์ ดร.ไพศาล สันติธรรมนนท์
5. นางวงศ์วิภา ชาวอบทม
6. นางสุกัญญา เจตะภัย

 

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.สุเชษฐ์ ลิขิตเลอสรวง ในโอกาสที่ได้รับพระราชทานเกียรติบัตรทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โดย คุณศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กราบบังคมทูลรายงานการจัดงานและทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตรและหนังสือที่ระลึก
.
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุเชษฐ์ ลิขิตเลอสรวง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเกียรติบัตรทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) วช. ประจำปี 2567
.
ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) เดิมจัดตั้งขึ้นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และดำเนินการต่อภายใต้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุนนักวิจัยอาวุโสในการสร้างนักวิจัยใหม่ที่มีความสามารถทางวิชาการสูง และเพื่อเป็นเกียรติในฐานะนักวิจัยที่สร้างผลงานดีเด่นมาตลอดชีวิต นอกจากจะมีผลงานในอดีตและเป็นแบบอย่างนักวิจัยที่ดีแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถในการผลิตผลงานคุณภาพสูงได้ต่อไป รวมถึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่อีกในอนาคต

วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับ กัลฟ์ และสถานีวิทยุ จุฬาฯ เปิดตัวโครงการ Green Mission by Chula x GULF ภารกิจรักษ์ยั่งยืน ชวนนักเรียนคิดค้นนวัตกรรมสร้างสรรค์ในโจทย์ “Beware Your Step ก้าวต่อไปไร้รอยเท้า”

วิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับ กัลฟ์ และสถานีวิทยุ จุฬาฯ
เปิดตัวโครงการ Green Mission by Chula x GULF ภารกิจรักษ์ยั่งยืน
ชวนนักเรียนคิดค้นนวัตกรรมสร้างสรรค์ในโจทย์ “Beware Your Step ก้าวต่อไปไร้รอยเท้า”

.

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (กัลฟ์) และสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ) ภายใต้กำกับดูแลของ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าวโครงการ Green Mission by Chula x GULF ภารกิจรักษ์ยั่งยืน โดยธีมในปีนี้ “Beware Your Step ก้าวต่อไปไร้รอยเท้า” เชิญชวนนักเรียนมาร่วมระดมสมอง และความคิดสร้างสรรค์ คิดนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระ เหมืองสิน รองผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ นายธนญ ตันติสุนทร Executive Officer บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมงาน และรองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดงาน ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารเจริญวิศวกรรม (ตึก 4) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

 

ในงานแถลงข่าวยังมีการแข่งขันกิจกรรม Mini Hackathon ภายใต้หัวข้อ How to Minimize Carbon Pawprint ลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสัตว์เลี้ยงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนจาก 10 โรงเรียน ร่วมระดมความคิด พัฒนาความคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมภายใต้โจทย์ที่ได้รับ และพิเศษสุด ๆ กับนายภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน นักแสดงหนุ่มชื่อดัง และศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ที่มาแชร์เทคนิคการสื่อสารในที่สาธารณะ ให้คำแนะนำที่ช่วยให้น้อง ๆ มั่นใจ และนำเสนอผลงานได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก คุณเชอรี่ เข็มอัปสร สิริสุขะ นักแสดงและผู้ขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อม มาร่วมให้แรงบันดาลใจและข้อคิดกับน้อง ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. วีระ เหมืองสิน รองผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาฯ ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา รองผู้อำนวยการ สถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBIS) และคุณรามนรี เนตรวิเชียร นักวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินการแข่งขันฯ

 

โดยทีมมหันตภัยวายร้ายแห่ง SMA นักเรียนจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ได้แก่ นายคณพศ สนิทมัจโร (กฤษ) นายณัฐวรัชญ์ บุญศรี (เตอร์) และนายธนาพัจน์ ทองศรีเมือง (เมธี) มี นายสมศักดิ์ คงสกุล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน Mini Hackathon และมีสิทธิ์ผ่านเข้ารอบ 20 ทีม เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม Bootcamp ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี เพื่อแข่งขันต่อ และร่วมการแข่งขัน Hackathon ในรอบชิงชนะเลิศต่อไป โดยทีมที่ชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ อีกทั้งยังมีรางวัล Popular Vote by GULF ที่มอบให้ทีมขวัญใจชาวโซเชียล รวมมูลค่ารางวัลทั้งหมดกว่า 105,000 บาท

 

ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า โครงการ Green Mission by Chula x GULF ภารกิจรักษ์ยั่งยืนนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กัลฟ์ และสถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ พันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเยาวชนให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีความยั่งยืน ตลอดจนสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา โครงการนี้จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับการสร้างแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ และเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้นำความคิดสร้างสรรค์มาผสานกับวิทยาการและความรู้เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

รองศาสตราจารย์ ดร.วีระ เหมืองสิน รองผู้อำนวยการ สำนักงานวิทยทรัพยากร สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ FM 101.5 MHz ภายใต้กำกับดูแลของ สำนักงานวิทยทรัพยากร กล่าวว่า ในฐานะสื่อมวลชนของสถาบันการศึกษา เราตระหนักถึงความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ผ่านรายการ Envi Insider by ดร.โอ จึงได้ร่วมกันจัดโครงการนี้ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถต่อยอดและนำเสนอแนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจก การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ให้นักเรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม ไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงในชุมชนของตนเอง พลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนา และเชื่อมั่นว่าการเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ที่ตนเองจะขยายผลสู่เพื่อน คนรอบข้าง ชุมชน จะส่งผลที่ยิ่งใหญ่สู่สังคมที่ยั่งยืนในอนาคต

 

นายธนญ ตันติสุนทร Executive Officer บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง ความร่วมมือครั้งนี้ว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมทำ Green Mission by Chula x GULF งานนี้ไม่เพียงแต่เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนอีกด้วย กัลฟ์เชื่อมั่นในศักยภาพของเยาวชนไทย ที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน โครงการนี้จะเป็นเวทีให้พวกเขาได้คิดนอกกรอบ แสดงออกถึงศักยภาพอย่างเต็มที่ ได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญทีมวิศวะ จุฬาฯ การได้ทำงานร่วมกับเพื่อนที่มีความคิดสร้างสรรค์เหมือนกัน เพื่อต่อยอดไอเดียใหม่ ๆ ได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาในโลกยุคใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน หวังว่าแนวคิดนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างสิ่งใหม่ ๆ นำไปประยุกต์ใช้ได้จริงต่อไป โครงการนี้ยังสอดคล้องกับพันธกิจของกัลฟ์ในการมุ่งลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามเป้าหมายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมเยาวชนคนรุ่นให้ให้มีใจรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป กัลฟ์ขอเชิญชวนนักเรียนทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Green Mission by Chula x GULF เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวขอบคุณผู้ร่วมสนับสนุนและกล่าวถึงความสำคัญของโครงการว่า “โครงการ Green Mission by Chula x GULF ภารกิจรักษ์ยั่งยืน “Beware Your Step ก้าวต่อไปไร้รอยเท้า” เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศได้สมัครเข้าร่วมกิจกรรม โดยทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นที่มาของแนวคิด Carbon Footprint หรือ รอยเท้าคาร์บอน ถึงแม้ว่า โครงการ Green Mission ภารกิจรักษ์ยั่งยืน จะเป็นโครงการแข่งขัน แต่ความมุ่งหวังของโครงการจะมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมทุกคนได้ประโยชน์กลับไปในระหว่างทางของการเข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ โครงการ Green Mission เป็นการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสภาพปัญหา ความสำคัญ และแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามบริบททางสิ่งแวดล้อม และสังคม-วัฒนธรรมของประเทศไทยตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ด้วยความหวังว่าเมื่อเยาวชนเหล่านี้เติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต จะเกิดการสร้างผู้นำในแต่ละหลากหลายสาขาอาชีพโดยให้ความสำคัญกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยในปีนี้ โครงการได้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Beware Your Step: ก้าวต่อไปไร้รอยเท้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน และสามารถเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำร่วมกัน

 

นายภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน ศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในฐานะศิษย์เก่า Intania 104 รู้สึกยินดีที่ได้มาแชร์ประสบการณ์และเทคนิคการพรีเซนท์ให้กับน้อง ๆ เพราะหลายคน พอพูดในที่สาธารณะ ต่อหน้าคนเยอะ ๆ ก็จะตื่นเต้น เกร็ง ลืมเนื้อหาที่จะพูด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ผมเองก็เคยเป็น ถ้าน้อง ๆ ฝึกฝน หมั่นซ้อม และมีความมั่นใจ ก็จะทำให้พรีเซนท์ออกมาได้ดี ซึ่งทุกคนที่มาร่วมงานในวันนี้ตั้งใจและเต็มที่มาก ๆ เชื่อว่าพลังคนรุ่นใหม่ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้ เริ่มจากก้าวแรกกับโครงการ Green Mission by Chula x GULF ภารกิจรักษ์ยั่งยืน Beware Your Step ก้าวต่อไป ไร้รอยเท้าครับ

 

นักเรียนที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ Green Mission by Chula x GULF ภารกิจรักษ์ยั่งยืน “Beware Your Step ก้าวต่อไปไร้รอยเท้า” สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการฯ โดยดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ https://curadio.chula.ac.th/v2022/activity/detail/?03a4 ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง 30 กันยายน 2567

 

#Chula #ChulaRadioPlus #ChulaEngineer #GulfEnergy #GULF #GulfSPARK #GreenMission #ZeroWaste #Sustainability #CircularEconomy #CabonFootprint #PortfolioBuilder #Portfolio #ChulaEngineering #วิศวจุฬา

พิธีลงนามความร่วมมือเพื่อพัฒนาน้ำมันหล่อลื่นชีวภาพที่ใช้ในการหล่อลื่นการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นผู้แทนศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาน้ำมันหล่อลื่นชีวภาพที่ใช้ในการหล่อลื่นการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ระหว่าง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท นิวไบโอดีเซล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ จำกัด (มหาชน)

 

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับคณาจารย์คณะวิศวฯ ที่ได้รับการยกย่องเป็น World’s Top 2% Most-cited Scientists ประเภท Career-long Achievement by Stanford University Ranking 2023 (Scopus by Elsevier)

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และรองศาสตราจารย์ ดร.กษิดิศ หนูทอง ภาควิชาวิศวกรรมเคมี ร่วมแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ ศรีเจริญชัยกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ศาสตราจารย์ ดร.สุทธิชัย อัสสะบารุงรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี และ รองศาสตราจารย์ ดร.มณิศา พิพัฒนสมพร ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ในโอกาสที่ได้รับการยกย่องเป็น World’s Top 2% Most-cited Scientists ประเภท Career-long Achievement by Stanford University Ranking 2023 (Scopus by Elsevier) ในงาน 2023 World’s Top 2% Scientists (Career-long Achievement) Awards Luncheon งานเลี้ยงแสดงความขอบคุณอาจารย์และนักวิจัยผู้สร้างชื่อเสียงติดอันดับบนฐานข้อมูลนักวิจัยที่มียอดสูงสุดระดับ 2% แรกของโลก จากผลงานการวิจัยตั้งแต่เริ่มต้นการทำงานจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอ้างอิงจากการเก็บข้อมูลโดย Elsevier จัดโดย สำนักบริหารวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ผู้รักษาการอธิการบดีจุฬาฯ กล่าวแสดงความขอบคุณและเป็นประธานในพิธีมอบเหรียญที่ระลึกแก่คณาจารย์ ณ ห้องสโรชา โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ

 

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับ Dr. Aung Pyae และทีมวิจัย ในโอกาสที่ผลงานวิจัยเรื่อง “Design and Development of a User-Centric Mobile Application to Promote Sustainable Hydration and Reduce Single-Use Plastic Water Bottle Consumption: A Case Study of Chulalongkorn University.” ได้รับรางวัล Top Paper Award ในงาน the 3rd NIC-NIDA Conference 2024

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับ Dr. Aung Pyae อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ และทีมวิจัยจากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ในโอกาสที่ผลงานวิจัยเรื่อง “Design and Development of a User-Centric Mobile Application to Promote Sustainable Hydration and Reduce Single-Use Plastic Water Bottle Consumption: A Case Study of Chulalongkorn University.” ได้รับรางวัล Top Paper Award ในงาน the 3rd NIC-NIDA Conference 2024 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า