March 24, 2014
ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวฯ จุฬาฯ จัดเสวนา
“บ่อขยะ จากภัยร้ายอันดับ 1 สู่วาระแห่งชาติ ด้วยศาสตร์ทางวิศวกรรม”
กระตุ้นสังคมทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบ พร้อมแนะแนวทางการแก้ไข
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกพลังเหล่าคณาจารย์ สำรวจปัญหาและผลกระทบกรณีเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา ที่กำลังเป็นประเด็นและก่อให้เกิดผลกระทบเป็น บริเวณกว้าง ณ ปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาที่ทุกภาคส่วนของสังคมต้องให้ความสำคัญและหันกลับมาสร้าง มาตรการป้องกันก่อนบานปลาย ชี้การป้องกันปัญหาระยะยาวต้องเดินตามกรอบกฎหมายที่ใช้กำกับดูแลอย่างจริงจัง
ผศ. ดร. พิชญ รัชฎาวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรณีเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษาที่ เกิดขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของการบริหารจัดการขยะ ตั้งแต่แหล่งกำเนิดจนถึงขั้นตอนของการกำจัด ในลำดับสุดท้ายที่ทุกคนในสังคมได้มองข้ามไปเป็นเวลานาน จนเกิดเหตุครั้งใหญ่ที่มีผลกระทบอย่างกว้างในคราวนี้ ผลกระทบที่เกิดมีความครอบคลุมแทบทุกด้านตั้งแต่มลพิษอากาศ น้ำชะขยะ น้ำดับเพลิง ขยะขี้เถ้าที่คงเหลือ จนถึงสิ่งที่มองไม่เห็น อาทิ การปนเปื้อนของน้ำใต้ดินจากสารเคมีรูปแบบต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึง สภาพความเป็นอยู่ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบ สิ่งที่นักวิชาการด้านขยะและดินควรต้องให้ ความสำคัญต่อไปก็คือประเด็นการให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวัง การฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และการปรับปรุงบทบาทของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อมิให้ปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก หรือถ้าหากจะต้องเกิดก็ไม่ควร มีความรุนแรงดังเช่นที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
ด้าน รศ. ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เสนอแนวทางการจัดการปัญหา มลพิษทางอากาศพร้อมเสนอแนวทางการจัดการในครั้งนี้ว่า เมื่อเกิดเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษาซึ่งถือเป็นบ่อที่มี ขนาดใหญ่ สิ่งแรกที่ผู้รับผิดชอบดูแลควรทำคือการดับไฟให้เร็วที่สุดด้วยวิธีที่เหมาะสม โดยนักดับเพลิงซึ่งมี ความเชี่ยวชาญและมีอุปกรณ์ป้องกันที่ถูกต้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูลของทิศทาง ความเร็วลม และด้านอื่นๆ เพื่ออพยพหรือแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ใต้ลมและบริเวณที่รับผลกระทบจากควันไฟ กลิ่นหรือมลพิษที่เคลื่อนที่ไปตามกระแสลม สำหรับการเฝ้าระวังในระยะยาวยังต้องมีการตรวจวิเคราะห์มลพิษ ทางอากาศในรัศมีของแนวควัน เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลของบรรยากาศในสภาพปกติรวมถึงการตรวจสุขภาพ ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากผลกระทบทางสุขภาพซึ่งเกิดจากฝุ่นขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์แล้ว ผลกระทบของมลพิษอากาศอาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อม เช่น หมอกควันส่งผลต่อ ทัศนวิสัยการขับขี่บนถนน ทัศนวิสัยของการบิน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อปรากฏการณ์ของ ก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการสะสมของความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ และมลพิษอาจเคลื่อนที่ไกลจนเป็นปัญหา ข้ามพรมแดนได้เช่นกัน ซึ่งกล่าวได้ว่า ขยะแม้เป็นเรื่องใกล้ตัวแต่ระอุไกลกว่าที่คิด
ในส่วนการป้องกันอันตรายและการจัดการน้ำเสียที่เกิดขึ้นนั้น ผศ. ดร.ศรัณย์ เตชะเสน กล่าวแสดงความเห็น ในประเด็นดังกล่าวว่า การป้องกันการแพร่กระจายน้ำเสียสู่ภายนอกสามารถแบ่งเป็นการป้องกันเหนือผิวดินทำได้ โดยการล้อมรั้วสูงรอบพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนภายนอกสามารถเข้า-ออกได้ และการป้องกันใต้ผิวดิน โดยการขุดร่องดินจนถึงชั้นหินหรือชั้นดินเหนียว ผสมสารกันซึมแล้วฝังกำแพงกันซึมนี้รอบบริเวณเพื่อป้องกัน การแพร่กระจายสู่น้ำใต้ดินและแพร่ออกนอกบริเวณควบคุม และควรสูบน้ำเสียในกองขยะไปบำบัดก่อนปล่อยทิ้ง เพื่อต้องการให้ขยะแห้งและสะดวกต่อการขนย้ายหรือกำจัด ทั้งยังต้องคัดแยกขยะแห้งเพื่อจัดหมวดหมู่และหาวิธี กำจัดของแต่ละประเภท รวมถึงตรวจสอบสภาพของดินและน้ำใต้ดินในบริเวณกองขยะเพื่อตรวจหาสารปนเปื้อน ที่เป็นอันตรายต่างๆ สุดท้ายต้องฟื้นฟูสภาพของดินและน้ำใต้ดินให้กลับมามีสภาพ;ที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ กากอุตสาหกรรมหรือกากของเสียอันตรายอันเกิดจากกระบวนการผลิต ซึ่งแหล่งอุตสาหกรรมของประเทศ เกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออก รองลงมาคือกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคกลาง ซึ่งถูกควบคุม ด้วยกฎหมายและข้อบังคับของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แต่ข้อเท็จจริง ที่เกิดขึ้นคือ ยังมีการลักลอบทิ้งกากของเสียในหลายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี และสมุทรปราการ ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ของประเทศไทยไม่ได้ล้าหลังสากลประเทศเลย เนื่องจากมีการนำกฎหมายในส่วนที่ดีๆของประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา และกลุ่ม EU มาปรับใช้ มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมบางตัวกลับเข้มงวดกว่าประเทศอื่นๆ เสียด้วยซ้ำ แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบรุนแรงต่างๆ ยังปรากฎอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการจัดการ กากของเสียอุตสาหกรรม เช่น การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมที่ อ.ปากช่อง (พ.ศ. 2547) อ.พนมสารคาม (พ.ศ. 2555) อ.แพรกษา และล่าสุด อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งในแต่ละที่นั้นทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพสิ่งแวดล้อม และยังมีอาจผลตกค้างยาวนานที่ทำให้สารพิษเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร มีผลต่อสุขภาพและการใช้ ทรัพยากรต่างๆ เช่น ดินเพื่อการเกษตร น้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคในระยะยาว และเป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ทำผิดกฎหมายในแต่ละที่ ล้วนเป็นบริษัทรับจัดการกากของเสียที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั้งสิ้น “เราอยู่ในภาวะตั้งรับ รอรับมือเหตุการณ์ร้ายทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในทุกกรณีข้างต้น กากของเสีย มาในรูปที่ปนกันจนไม่แน่ใจว่าจะมีสารพิษอะไรถูกปลดปล่อยออกมาบ้าง ซึ่งทำให้การรับมือทำได้ยากลำบาก และอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น หรือทำให้การกระจายการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในทางทฤษฎี และทางปฏิบัติในหลายประเทศ ลำดับการจัดการกากของเสียนั้น การฝังกลบควรเป็นอันดับสุดท้าย เนื่องจากความเป็นพิษของกากต่างๆ ยังไม่ได้รับการบำบัด เป็นแค่การนำไปพักไว้ในหลุมฝังกลบ ซึ่งรอวันที่จะ หลุดรั่วออกมาเหมือนระเบิดเวลาที่จะสร้างภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่หน่วยราชการที่มีอำนาจ หน้าที่รับผิดชอบ ภาคเอกชน และประชาชน ต้องมาร่วมกันปฏิรูประบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในประเทศ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อลูกหลานของเรา” ผศ. ดร.มนัสกร ราชากรกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวทิ้งท้ายเรื่องการจัดการขยะและของเสียอันตราย
เอกสารประกอบการเสวนา