คณะวิศวฯ จุฬาฯ และ KPMG ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และร่วมผลักดันการพัฒนาองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนที่เหมาะสมกับภาคธุรกิจและสังคมไทย

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี และ บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด โดย คุณเจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง คณะวิศวฯ จุฬาฯ และ KPMG เพื่อเป็นการแสดงความมุ่งมั่นที่จะประสานความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และร่วมผลักดันการพัฒนาองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนที่เหมาะสมกับสังคมไทย เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจทุกระดับสู่ความยั่งยืน อันเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมมิติการพัฒนาทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ การกำกับดูแล (Governance) ณ ห้องประชุมสวนรวมใจ 1 คณะวิศวฯ จุฬาฯ

ความร่วมมือนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมจัดการองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนที่เหมาะสมกับภาคธุรกิจและสังคมไทย ร่วมเสริมสร้างศักยภาพ และบูรณาการความร่วมมือเพื่อพัฒนาความพร้อมของบุคลากร และส่งเสริมความร่วมมือในการกระตุ้นการรับรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจ สังคม รวมถึงสนับสนุนนโยบายภาครัฐด้านความยั่งยืน

ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดแนวทางการดำเนินการร่วมกัน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้านความยั่งยืนที่เหมาะสมกับภาคธุรกิจและสังคมไทย เช่น การแลกเปลี่ยนการบรรยายจากบุคลากรของคณะวิศวฯ จุฬาฯ และบริษัทฯ ในด้านความยั่งยืน และการรับนิสิตฝึกงานจากคณะวิศวฯ โดยบริษัทฯ ตลอดจนร่วมกันสนับสนุนการจัดกิจกรรมสัมมนา เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยด้านแนวคิดผู้นำและองค์ความรู้ด้านความยั่งยืน (Thought Leadership and Publication) ด้าน ESG ในแง่มุมของการปฏิบัติจากภาคธุรกิจและการศึกษาวิจัยจากภาควิชาการ เพื่อสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความร่วมมือกับทางบริษัทเคพีเอ็มจีครั้งนี้ เพื่อร่วมกันสนับสนุนและดำเนินงานทางวิชาการ รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์ความรู้ด้านความยั่งยืน เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้สู่การปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน ESG การพัฒนาศักยภาพนิสิตของคณะวิศวฯ ที่ครอบคลุมทุกมิติ ESG ให้สามารถเป็นวิศกรระดับโลก เหมาะสมกับสังคมไทยในการขับเคลื่อนธุรกิจทุกระดับสู่ความยั่งยืน อันเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย

 

คุณเจริญ ผู้สัมฤทธิ์เลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด ได้ให้ความเห็นว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ และการพัฒนาด้านความยั่งยืนในมิติ ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสององค์กร

 

คณะวิศวฯ จุฬาฯ จัดงาน TOWN HALL meeting with DEAN: Chula Engineering Next Move คณบดีพบประชาคมวิศวฯ

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ณ หอประชุม HALL OF INTANIA คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน TOWN HALL meeting with DEAN: Chula Engineering Next Move คณบดีพบประชาคมวิศวฯ นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี พร้อมด้วย รองคณบดีทั้ง 8 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.นภดนัย อาชวาคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองศาสตราจารย์ ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ ศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมชนม์ สถิระพจน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฟ้าลั่น ศรีสุริยชัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล และรองศาสตราจารย์ ดร.อติวงศ์ สุชาโต มานำเสนอนโยบายการบริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ และร่วมพูดคุยถึงการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และการดำเนินงานในอนาคต โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชาญณรงค์ บาลมงคล ผู้ช่วยคณบดี และรองศาสตราจารย์ ดร.จรัสรัก วิภาวกิจ ผู้ช่วยคณบดี เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีคณาจารย์และบุคลากรวิศวฯ เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับนิสิตของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในงาน AI INNOVATOR AWARD 2024 PITCH COMPETITIONS

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับนิสิตของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในงาน AI INNOVATOR AWARD 2024 PITCH COMPETITIONS เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567
.
การประกวดในครั้งนี้ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 1 ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่
.
นางสาวนภัสชล อินทะพันธุ์
นายแก้วกล้า สร้อยกาบแก้ว
นายกฤตภาส ตระกูลพัว
นายศักดิ์ธวัช ไพรัชศรานนท์
.
โดยได้รับทุนการศึกษา 100,000 บาท พร้อมโล่และประกาศนียบัตร
.
การแข่งขันครั้งนี้มีมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University) ร่วมกับสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AIEI) เป็นผู้จัดการแข่งขันที่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และนักศึกษาระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่า ร่วมแสดงศักยภาพในการประกวดโครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์ (Creative & AI Innovation) ประจำปี 2024 AI Innovator Award 2024 : ปลดล็อคศักยภาพแห่งอนาคต ภายใต้แนวคิด “AI and creativity converge in a realm of endless possibilities” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์และความคิดสร้างสรรค์บรรจบกันในอาณาจักรแห่งความเป็นไปได้ไม่รู้จบ”

วิศวฯ จุฬาฯ แพทย์ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ สาธารณสุข จับมือครั้งสำคัญ ร่วมลงนามยกระดับดูแลสุขภาพจิตผ่านนวัตกรรมดิจิทัล Mindful Hub

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกระทรวงสาธารณสุข จัดงานแถลงข่าวลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ณ ห้องทรูแลป ตึก 3 คณะวิศวฯ จุฬาฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกระดับการดูแลสุขภาพจิตผ่านการนำนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ Mindful Hub มาใช้เป็นแนวทางในการดูแลนิสิตนักศึกษาแพทย์
ภายในงานดังกล่าว ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองคณบดีฝ่ายบริหาร รักษาการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ. ดร.รณกรณ์ บุญมี รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและนิติการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายแพทย์ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ พร้อมกับร่วมรับฟังเสวนาเกี่ยวกับ “ปัญหาสุขภาพจิตกับแนวทางการดูแลนิสิตนักศึกษา”
.
รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในยุคดิจิทัลที่โลกหมุนเร็วขึ้น ความกดดันก็มากขึ้น นิสิตแพทย์ คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ ดังนั้นการดูแลสุขภาพจิต จึงมิใช่เพียงเรื่องของการรักษา แต่เป็นเรื่องของการป้องกันและการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการพัฒนา Mindful Hub ขึ้นมา โดยผสานจุดแข็งของทั้งสององค์กรด้วยการนำความเชี่ยวชาญทางการแพทย์มาพัฒนาร่วมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสร้างช่องทางการเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพจิตให้กับนิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ ทั้งในเรื่องของความสะดวก ความเป็นส่วนตัว และการรักษาความลับ
.
เพราะการดูแลสุขภาพจิตมิใช่เพียงเรื่องของการรักษา แต่เป็นเรื่องของการป้องกันและการสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แม้ 1 ใน 3 ของนักศึกษาทั่วโลกจะประสบปัญหาสุขภาพจิต แต่มีเพียงร้อยละ 40 ที่กล้าเข้าถึงบริการ โดยอุปสรรคสำคัญคือความกลัวการถูกตีตราจากสังคม ดังนั้นการลงนามความร่วมมือฯ ครั้งนี้ จึงเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า “การดูแลสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการใส่ใจอย่างจริงจัง” รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าว
.
ผศ. ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองคณบดีฝ่ายบริหารรักษาการแทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเสริมถึง การเข้าร่วมงานบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพจิตผ่านการนำนวัตกรรมดิจิทัล Mindful Hub ว่า เนื่องจากสุขภาพจิตกำลังเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญเป็นอย่างมากในสังคมที่เกิดขึ้นกับคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น จนนำไปสู่ความสูญเสียที่อาจเกิดจากภาวะซึมเศร้า ที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงได้ร่วมมือกับทางคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดทำโครงการศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวช หรือ AIMET เพื่อใช้ในการสนับสนุนบริการทางแพทย์ในด้านจิตเวช ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์
.
ขณะที่ Mindful Hub จะเป็นระบบช่วยดูแลให้นิสิต นักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักศึกษาแพทย์ ได้เข้าถึงบริการและความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต อย่างเป็นความลับ ปัจจุบัน Mindful Hub ได้เริ่มทดลองใช้กับคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรุ่นแรก และมีการขยายผลการใช้งานไปยังนักศึกษาแพทย์ของโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) ในกลางปี 2568 นี้
.
อาจารย์นายแพทย์อติคุณ ธนกิจ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีนโยบายดูแลสุขภาพจิตของนิสิตแพทย์ตลอดระยะเวลาการศึกษา เพื่อให้นิสิตได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และสามารถผ่านการศึกษาในหลักสูตรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กิจกรรมพัฒนาทักษะวิธีการดูแลสุขภาพใจและวิธีรับมือกับความเครียดในรายวิชา Medical Professional Development การจัดระบบให้มีอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อดูแลนิสิตตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษา คอยให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ และเสนอแนะแนวทางเมื่อนิสิตมีปัญหา โดยอาจารย์ 1 คน ดูแลนิสิต 6 คน
.
ส่วนด้านสุขภาพจิต ภายใต้โครงการ “MDCU Let’s Talk” ฝ่ายกิจการนิสิตได้พัฒนาช่องทางสื่อสารออนไลน์ คือ Line OA ขึ้นมา เพื่อให้นิสิตสามารถเข้าถึงระบบการนัดหมายปรึกษากับนักจิตวิทยา ได้อย่างสะดวกสบาย รวดเร็ว อีกทั้งยังทำระบบการนัดหมายจองออนไลน์ด้วย Google Forms ที่จำกัดการเข้าถึงเฉพาะนักจิตวิทยาที่ได้รับมอบหมาย เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของนิสิต พร้อมทั้งมีระบบและช่องทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ ให้กับนิสิต อย่างหลากหลายมากมาย
.
ผศ.บุรชัย อัศวทวีบุญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ให้นักศึกษาทุกคนเข้าถึงช่องทางในการรับบริการ ผ่านการประเมินภาวะสุขภาพจิต อย่างน้อยคนละครั้งต่อภาคการศึกษา รวมถึงการขอรับบริการปรึกษาทางจิตใจ ซึ่งทางมหาวิทยาลัย ฯ ได้ใส่เรื่องนี้เข้าไปในทุกโครงรายวิชาที่ทำการเรียนการสอน พร้อมกับปรับช่องทางให้นักศึกษาสามารถติดต่อรับบริการได้ตลอดเวลา คือ 24/7
.
มากกว่านั้น คือมีการนำระบบคัดกรองของ Dmind ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่นำมาผนวกเข้ากับระบบให้บริการสุขภาพจิตของมหาวิทยาลัย และได้พัฒนาระบบให้สามารถขอรับบริการผ่าน application ของนักศึกษา ที่ชื่อว่า TU greats ด้วยวิธีการนำแอปพลิเคชัน TU wellness ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มาเชื่อมแบบ single sign-on และนำ Dmind เข้าไปเป็นระบบคัดกรองด้านสุขภาพจิต ร่วมกับระบบอื่น ๆ เช่น การจองคิวเพื่อขอรับบริการ และประชาสัมพันธ์กิจกรรมด้านสุขภาพจิตต่าง ๆ
.
ขณะที่ นายกิตติพศ แสงสาย ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม Mindful hub กล่าวถึง แนวคิดและความตั้งใจของการนำนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ Mindful Hub มาใช้เป็นแนวทางในการดูแลนิสิตนักศึกษาในครั้งนี้ ว่าอยากมีส่วนเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพจิตให้กับนักเรียนแพทย์ เนื่องจากนักเรียนแพทย์ต้องเผชิญกับความเครียดทั้งจากเนื้อหาการเรียนที่มีปริมาณมากและซับซ้อน อีกทั้งต้องเจอกับสภาพแรงกดดันจากงานที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบที่สูงมาก รวมถึงต้องเผชิญกับความคาดหวังทั้งจากคนไข้ อาจารย์ และคนรอบข้าง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่มีความท้าทายสูงมาก โดยเฉพาะนักเรียนแพทย์ไม่สามารถหลีกหนีได้ ดังนั้นการที่ผมได้เข้ามาทำงานตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมเข้าใจถึงความต้องการของนักเรียนแพทย์ ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่างนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ Mindful Hub สามารถช่วยให้บริการด้านสุขภาพจิตของน้อง ๆ นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น
.
สุดท้ายนี้ สิ่งที่ผมอยากจะเห็นต่อไปในอนาคต คือ การได้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของนิสิตนักศึกษามากขึ้น เพราะกลุ่มนี้คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศชาติ

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 จากงาน Aihack Thailand 2024 ทั้ง 2 Tournament

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับที่ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 จากงาน Aihack Thailand 2024 ทั้ง 2 Tournament
.
AIRA & AIFUL Public Company Limited ได้จัดงาน Aihack Thailand 2024
เมื่อวันที่ 7-9 ธันวาคม 2567 ณ อาคารไชยยศสมบัติ 3 คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โจทย์การคาดการณ์ลูกค้าที่มีโอกาสชำระหนี้ล่าช้า (Long Overdue Debtor) จากความรู้ด้าน Machine Learning และไอเดียด้าน Business จาก data จริงของบริษัท
.
Aihack Tournament
1st Place: Team LhorTaeUntarai
1.นางสาวรสสุคณธ์ รักษ์เกียรติคุณ CP48
2.นางสาวนภัส นิติวัฒนานนท์ CP48
3.นายกิตติธัช ตันติศักดิ์ CP48
4.นายปรมะ สวรรค์ปัญญาเลิศ CP48
.
2nd Place: Team Yark Gin Sushi
1.นายปัณณวิชญ์ โลหะนิมิต CP49
2.นายภคิน คงอุดมสิน ICE
3.นายสหรัถ นวมจิตร ICE
4.นายธนฤต ตรีมหาฤกษ์ ICE
5.นายครองภพ มั่นคง Comp Sci, University of New South Wales
.
3rd Place: Team IAHackatoo
1.นายจักริน สุคนธ์พงษ์เผ่า CP48
2.นางสาวนวินภาดา เฮ้งเจริญ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ภาควิชาสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 3
3.นายสุภณัฐ กุลคำธร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาลาดกระบัง ปี 4
4.นายภัควิชญ์ ศรีอินทร์สุทธิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาลาดกระบัง ปี 4
5.นายอดิศา ศรีวราสาสน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี4
.
AUC Tournament
1st Place: Team HumGPT
1.นายจิรายุวัฒน์ บุญจันทร์ CP48
2.นายกฤษณภัทร ชาติวัฒนา CP48
3.นายศุภกร สิบทัศน์ CP48
4.นายชาคริต สุกิน คณะเศรษฐศาสตร์
.
2nd Place: Team BritishGang
1.นายปวริศร์ กลิ่นเสียงดี CP49
2.นายพชรพล ปลาทอง CP49
3.นายสธน เลาลักษณเลิศ CP49
4.นายพรพิพัฒน์ กิ่งจงเจริญสุข CP49
5.นายอชิตพล สิริศรีศักดิ์ CP49
.
3rd Place: Team TewGunMai
1.นายธีร์จุฑา ศรีวรานนท์ CP50
2.นายพศิน พรศิวะกุล CP50
3.นายชยพัทธ์ ครุฑนิ่ม CP50
4.นายภูวสิษฏ์ วิภาสชีวิน CP50
5.นายนันทพงศ์ เรืองสุขศรีวงศ์ CP50
.
CR: >> https://www.cp.eng.chula.ac.th/blog/archives/33137

#ChulaEngineering #ACTNOW #CHULA #ChulalongkornUniversity #วิศวฯจุฬา #วิศวกรรมศาสตร์ #วิศวกรรมคอมพิวเตอร์

 

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ Zero Construction Wastes and Upcycling Products ร่วมกับ บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฤทธา จำกัด

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นภดนัย อาชวาคม รองคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง รองคณบดี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.เจนยุกต์ โล่วัชรินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ศาสตราจารย์ ดร.เกษม ชูจารุกูล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา รองศาสตราจารย์ ดร.มนัสกร ราชากรกิจ รองศาสตราจารย์ ดร.ดาว สุวรรณแสง จั่นเจริญ และ อาจารย์ ดร.ชิติพนธ์ เฉื่อยฉ่ำ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน บริษัท ไซมิส แอสเสท จำกัด (มหาชน) โดย นางสุนันทา สิ่งสรรเสริญ กรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และนายมณเฑียร ยิ่งดำนุ่น กรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ร่วมกับ บริษัท ฤทธา จำกัด โดยคุณปณิธาน เทพนิกร กรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม และคุณเพชรรัตน์ เพชรดี กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป พร้อมแขกผู้มีเกียรติ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการ “Zero Construction Wastes and Upcycling Products ระหว่าง บริษัท ไซมิส แอสเสท จํากัด (มหาชน) บริษัท ฤทธา จำกัด และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ณ Siamese Club ชั้น 22 โรงแรม Cassia Rama 9 Bangkok by Banyan Group
สำหรับความร่วมมือนี้ ทั้งสามฝ่ายเล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม โดยอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ถือเป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานที่สูงตลอดวัฏจักรการดำเนินงาน รวมถึงมีของเสียและขยะที่เกิดขึ้นในปริมาณมาก จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการมีนโยบายและแนวทางในการบริหารจัดการของเสีย และขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการเกิดขยะ สามารถนำของเสีย และขยะกลับไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น กลับมาใช้ใหม่ ถือเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และที่สำคัญลดต้นทุนและมีโอกาสในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำทั้งในและต่างประเทศ

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับนายอาณัติ สุธา นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ในโอกาสที่ได้รับรางวัล “Best Student Paper Award” ในการประชุมวิชาการ The 1st-International Conference on Engineering Structures & Engineering Structures Editorial Board Meeting

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับนายอาณัติ สุธา นิสิตปริญญาเอกในที่ปรึกษาของ รองศาสตราจารย์ ดร.เสวกชัย ตั้งอร่ามวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ในโอกาสที่ได้รับรางวัล “Best Student Paper Award” จากการนำเสนอบทความเรื่อง “Reliability-based design optimization of large-scale truss structures, using combination line sampling method with bayesian inference with subset simulation and slime mold algorithm optimization approach” ในการประชุมวิชาการ The 1st-International Conference on Engineering Structures & Engineering Structures Editorial Board Meeting ซึ่งจัดโดย วารสารวิชาการ Engineering Structures (Tier#1) เมื่อวันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2567 ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
.
การพิจารณารางวัลนี้ผ่านกระบวนการคัดเลือกโดยทีม Journal Editorial Board Members จากจำนวนมากกว่าพันบทความ และผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้รับเชิญให้นำไปตีพิมพ์ในวารสาร Engineering Structures ฉบับพิเศษต่อไป

คณะวิศวฯ จุฬาฯ และบริษัท Zipevent ร่วมมือกันพัฒนานิสิต CEDT สู่ผู้เชี่ยวชาญด้านอีเว้นท์เทคโนโลยียุคดิจิทัล

เมื่อวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท ซิปอีเว้นท์ จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (Bachelor of Engineering in Computer Engineering and Digital Technology) ณ ห้องประชุมสวนรวมใจ 1 เพื่อพัฒนารูปแบบความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมและการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นระบบ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ นายทวีเกียรติ กิตติญาณปัญญา จากบริษัท ซิปอีเว้นท์ จำกัด เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลและ นางสาวมณฑิตา ราศรี ร่วมเป็นสักขีพยาน
.
ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง ซึ่งมีความรู้และทักษะที่ทันสมัย ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตในการเผชิญกับความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ในโลกของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความร่วมมือนี้จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ โดยการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถและพร้อมที่จะนำพาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าในอนาคต

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับ น.ส.ภควดี อนุสสรราชกิจ นิสิตระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมธรณีเทคนิค ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ในโอกาสที่ได้รับรางวัล Best Presenter Award จากงานการประชุมวิชาการนานาชาติ The 35th KKHTCNN Symposium on Civil Engineering

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับ นางสาวภควดี อนุสสรราชกิจ นิสิตระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมธรณีเทคนิค ภาควิชาวิศวกรรมโยธา โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุเชษฐ์ ลิขิตเลอสรวง เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ในโอกาสที่ได้รับรางวัล Best Presenter Award จากงานการประชุมวิชาการนานาชาติ The 35th KKHTCNN Symposium on Civil Engineering ซึ่งจัดโดย Tongji University ระหว่างวันที่ 19-22 พฤศจิกายน 2567 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับ โคเวย์ จัดโครงการตรวจวัดคุณภาพน้ำดื่ม พร้อมต่อยอดงานวิจัย

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโคเวย์ (COWAY) แบรนด์เครื่องกรองน้ำและเครื่องฟอกอากาศอันดับ 1 จากประเทศเกาหลีใต้ ผนึกกำลังความร่วมมือการวิจัยคุณภาพน้ำ (MOU) เพื่อร่วมดำเนินโครงการตรวจวัดคุณภาพน้ำจากเครื่องกรองน้ำโคเวย์ในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศและตอกย้ำความมั่นใจแก่ผู้บริโภคแก่เครื่องกรองน้ำโคเวย์สามารถมอบน้ำดื่มสะอาดได้มาตรฐานจากน้ำประปาทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถนำข้อมูลทางเทคนิคไปต่อยอดในงานวิจัย เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะใหม่ ๆ จากประสบการณ์ตรงในการทำงานภาคสนามของตนเอง ซึ่งถือเป็นการมอบประโยชน์คืนสู่สังคมอีกทางหนึ่ง สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ “Best Life Solution Company” ของโคเวย์
.
นายปาร์ค ชุนยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในภารกิจของเราในการมอบโซลูชันเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นให้กับชุมชน ผ่านการสร้างสรรค์ และนำเสนอนวัตกรรมเพื่อสุขภาพระดับโลกในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในการพัฒนาการดำเนินงานของโคเวย์ในการส่งมอบน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยให้กับครัวเรือนทั่วประเทศไทย ในอีกด้านหนึ่ง โครงการนี้ยังช่วยสนับสนุนพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการส่งเสริมความรู้ด้านการวิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรมผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างทีมนักวิจัยไทย และทีมวิจัยของโคเวย์จากนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคในเมืองไทยต่อไป”
.
รองศาสตราจารย์ ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มุ่งมั่นสร้างบัณฑิตที่มีความสามารถทั้งด้านวิชาการและทักษะการทำงานที่ทันสมัย อีกทั้งเรายังให้ความสำคัญกับการบุกเบิกบูรณาการองค์ความรู้สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมในการเรียนการสอนและการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นความร่วมมือกับทางโคเวย์ในครั้งนี้จึงนับเป็นโอกาสดีสำหรับนิสิตของเราที่จะได้มีโอกาสปฏิบัติงานร่วมกับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก นิสิตจะได้สัมผัสโลกของการทำงานจริงในธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งนับว่าสอดคล้องตามวิสัยทัศน์ของเราในการพัฒนาบัณฑิตสู่การเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางวิศวกรรม เพื่อเสริมสร้างประชาคมโลกที่ยั่งยืน”
.
อาจารย์ ดร.วิน ไตรวิทยานุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ กล่าวว่า “ความร่วมมือกับโคเวย์นี้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์อรุณ สรเทศน์ ในการเป็นศูนย์วิจัยในระดับสากล นับเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมในการผสานองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่เราสั่งสมมานาน และการให้บริการวิเคราะห์คุณภาพน้ำด้วยเครื่องมือวิจัยด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมขั้นสูงในห้องปฏิบัติการของศูนย์ความเป็นเลิศฯ เข้ากับการดำเนินงานของโคเวย์ที่จะศึกษาตัวอย่างน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยอย่างทั่วถึง และจะต่อยอดในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อร่วมพัฒนานวัตรกรรมเพื่อสังคมที่ยั่งยืนต่อไป”
.
โครงการนี้จะเริ่มดำเนินการภายในปี 2568 เป็นต้นไป โดยในเฟสแรกจะเป็นการจัดตั้งกรอบการทำงาน ขั้นตอนปฏิบัติ และมาตรฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นร่วมกันระหว่างโคเวย์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งทางโคเวย์ได้วางเป้าหมายให้โครงการนี้มีส่วนสำคัญในการเพิ่มความพึงพอใจและความไว้วางใจของลูกค้า และสร้างความเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าลูกค้าจะใช้ระบบน้ำประปารูปแบบใดก็จะยังคงได้น้ำดื่มสะอาดคุณภาพมาตรฐานจากเครื่องกรองน้ำโคเวย์อย่างแน่นอน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า