ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมบริจาคอุปกรณ์กีฬาและเครื่องเขียนสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล – มัธยมต้น โรงเรียนเกาะปันหยี จังหวัดพังงา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมบริจาคอุปกรณ์กีฬาและเครื่องเขียนสำหรับนักเรียนชั้นอนุบาล – มัธยมต้น โรงเรียนเกาะปันหยี จังหวัดพังงา

โดยจะนำไปมอบให้กับโรงเรียนเกาะปันหยี จังหวัดพังงา
ในวันที่ 7 และ 21 กรกฎาคม 2565

บริจาคได้ที่ ภารกิจบริหารทรัพยากรมนุษย์ ชั้น 1 ตึก 3
เริ่มรับบริจาคตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2565

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2218-6318 หรือ 0-2218-6319

คณบดีคณะวิศวฯ เข้าร่วมกิจกรรม Kick off เปิดตัวการใช้งาน Sensor for All

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมกิจกรรม Kick off เปิดตัวการใช้งาน Sensor for All พร้อมทั้งร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา “แนวทางการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของ Sensor for All ต่อสังคมอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยกระทรวงพลังงาน ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกิจกรรม Kick off เปิดตัวการใช้งาน Sensor for All ร่วมกับ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมเครือข่ายพันธมิตร ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน กฟผ. และเจ้าหน้าที่สำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้ติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ 500 จุดทั่วประเทศ พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพอากาศร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ ในแอปพลิเคชัน Air4Thai และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในแอปพลิเคชัน Dustboy ทำให้มีข้อมูลแสดงในผล Sensor for All รวมกว่า 1,200 จุด ครอบคลุมทั่วประเทศ สามารถตรวจเช็คข้อมูลคุณภาพอากาศแบบ Real Time ได้ผ่านทางเว็บไซต์ http://sensorforall.com แอปพลิเคชัน Sensor for All รวมถึงจอแสดงผลคุณภาพอากาศตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยข้อมูลคุณภาพอากาศจากเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้งและเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วประเทศนี้ ประชาชนสามารถใช้ในการเฝ้าระวังและวางแผนการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นข้อมูลแก่หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรวมพลังร่วมกันจัดการปัญหาฝุ่น และที่สำคัญคือ สามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขสำหรับติดตามเฝ้าระวังอาการคนกลุ่มเสี่ยงด้านทางเดินหายใจ พร้อมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาคุณชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนอย่างยั่งยืน

คณะวิศวฯ จุฬาฯ จับมือสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ จัดโครงการ Chula Alumni Mentorship Program : Engineering ปีที่ 4

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจับมือสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ (Networking) ซึ่งถือเป็นหัวใจที่นำไปสู่ความสำเร็จและการเข้าถึงข้อมูลอาชีพที่ครอบคลุมความหลากหลายของสายอาชีพ รวมถึงเสริมทักษะต่าง ๆ เพื่อมุ่งสร้างนิสิตรุ่นใหม่ให้รู้จักตนเอง รู้จักอาชีพ และรู้จักโลกของการทำงานจริง ในรูปแบบต่าง ๆ จากพี่ ๆ ต้นแบบอาชีพที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้โครงการ Chula Alumni Mentorship Program : Engineering ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีนิสิตสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

โดยเมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ คุณญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ และคุณวสันต์ จันทร์สัจจา อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรม Mentorship Program Outing: กิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง Mentor Mentee และนิสิตที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ณ โรงแรมฮอลิเดย์อิน พัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์แบ่งปันประสบการณ์เชิงลึกมุมมองในการทำงานและเส้นทางอาชีพในฝันที่สามารถเป็นแนวทางให้แก่น้อง ๆ นิสิตในการต่อยอดความสนใจในสายอาชีพของตนในปัจจุบันและอนาคต

พิธีมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรแห่งจุฬาฯ ประจำปี 2564

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดพิธีมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2564 เพื่อประกาศเกียรติคุณคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่าง ๆ สร้างชื่อเสียงเกียรติภูมิและความภาคภูมิใจแก่มหาวิทยาลัย โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล นายกสภามหาวิทยาลัย และ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ เป็นประธานในพิธีมอบ

พร้อมกันนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี พร้อมด้วย ผู้บริหาร คณาจารย์และบุคลากร ได้ร่วมแสดงความยินดีและมอบช่อดอกไม้ให้กับคณาจารย์และบุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้รับรางวัล ดังนี้

1. ประกาศเกียรติคุณศาสตราจารย์         

          1.1 ศาสตราจารย์ ดร.สุพิชชา จันทรโยชา ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์

          1.2 ศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ ตั้งจิตสิตเจริญ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ

          1.3 ศาสตราจารย์ ดร.จรูญ รุ่งอมรรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

          1.4 ศาสตราจารย์ ดร.วรงค์ ปวราจารย์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี

          1.5 ศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ปิ่นแก้ว ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

          1.6 ศาสตราจารย์ ดร.มานะ ศรียุทธศักดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

          1.7 ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ ศรีเจริญชัยกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

          1.8 ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ เรืองรัศมี  ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

          1.9 ศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม

2. ประกาศเกียรติคุณศาสตราภิชาน                           

2.1. Professor Takashi Hibiki

ศาสตราภิชานกองทุนเพื่อการบริหารวิชาการและการศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์

ระยะเวลา 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566      

2.2 รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์

ศาสตราภิชานเงินทุนศิษย์เก่าวิศวกรรมแหล่งน้ำ กองทุนเพื่อการบริหารวิชาการและการศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ระยะเวลา 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566      

2.3 Professor Ming-Daw Su  

ศาสตราภิชานเงินทุนศิษย์เก่าวิศวกรรมแหล่งน้ำ กองทุนเพื่อการบริหารวิชาการและการศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ระยะเวลา 1 เมษายน 2565 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566

3. ยกย่องและแสดงความยินดีแก่บุคลากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลระดับชาติ และนานาชาติ ประจำปี 2564

3.1 ศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร ดำรงค์ศักดิ์กุล ภาควิชาวิศวกรรมเคมี

รางวัลตำราดีเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ กองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร  ประจำปี 2564 จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

3.2 ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี

รางวัลตำราดีเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ กองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี พ.ศ. 2563 จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

3.3 ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด บรรเจิดพงศ์ชัย ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

The IEEE Control Systems Society 2020 Outstanding Chapter Award จาก The IEEE Control Systems Society, USA.

3.4 รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี อร่ามวิทย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

Silver Medal Award จาก The 48th International Exhibition of Inventions Geneva

3.5 รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี อร่ามวิทย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

Gold Medal Award จาก Innovation Week Africa (IWA) 2020

3.6 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ และคณะ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ

Best Paper Award จาก The 2nd International Symposium on Instrumentation, Control, Artificial Intelligence and Robotics

4. รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติอาจารย์ด้านกิจการนิสิต

4.1 ศาสตราจารย์ ดร.ธัญวัฒน์  โพธิศิริ ประเภทผู้บริหาร

5. รางวัลการวิจัยและผลงานวิจัย กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี 2564

5.1 ศาสตราจารย์ ดร.สุเชษฐ์ ลิขิตเลอสรวล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

รางวัลนักวิจัยดีเด่น สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

5.2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ หลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช

รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นด้านการนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคม สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เรื่อง รถความดันบวกเก็บเชื้อและรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษเพื่อการตรวจเชื้อโควิด-19 เชิงรุก

5.3 ดร.อานนท์ ขำแก้ว นิสิตภาควิชาวิศวกรรมเคมี

รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของนิสิตระดับปริญญาเอก สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วิทยานิพนธ์ เรื่อง ถ่านกัมมันต์ที่ได้จากแบคทีเรียเซลลูโลสและการประยุกต์ใช้เป็นตัวดูดซับและตัวเร่งปฏิกิริยากรดของแข็ง

อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก : ศาสตราจารย์ ดร.เหมือนเดือน พิศาลพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี

5.4 นางสาวปรินทร เต็มลักษมี นิสิตภาควิชาวิศวกรรมเคมี

รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของนิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วิทยานิพนธ์เรื่อง การพัฒนาและวิเคราะห์คุณลักษณะของเซลล์อิเล็กโทรไลซิสแบบออกไซด์ของแข็งที่ใช้อิเล็กโทรไลต์ ชนิดซีเรียและเซอร์โคเนียเป็นฐานสำหรับผลิตไฮโดรเจนจากไอน้ำ

อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรพร คิม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี

5.5 นายณัฐพล หงสฤทัย นิสิตภาควิชาวิศวกรรมเคมี

รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นของนิสิตระดับปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

วิทยานิพนธ์เรื่อง ผลของปริมาณอะลูมินาและวิธีการเตรียมต่อสมบัติในการเกิดปฏิกิริยาของตัวเร่งปฏิกิริยา ทังสเตนบนซิลิกา-อะลูมินาแบบทรงกลมในโพรพีนเมตาทีซีส

อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จูงใจ ปั้นประณต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี

5.6 ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิศวกรรมธรณีเทคนิคและธรณีสิ่งแวดล้อม (ปี3) รางวัลศูนย์ฯ CE ที่มีผลงานดีเด่น

หัวหน้าศูนย์ : ศาสตราจารย์ ดร.สุเชษฐ์ ลิขิตเลอสรวง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

5.7 หน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (ปีที่ 4) รางวัลหน่วยปฏิบัติการวิจัย RU ที่มีผลงานดีเด่น

หัวหน้าหน่วย : รองศาสตราจารย์ ดร.แนบบุญ  หุนเจริญ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า

5.8 หน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง (ปีที่ 3) รางวัลหน่วยปฏิบัติการวิจัย RU ที่มีผลงานดีเด่น

หัวหน้าหน่วย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชชา จองวิวัฒนสกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา

6. รางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติบุคลากรสายปฏิบัติการ “คนดี ศรีจุฬาฯ”

6.1 นางสาวดวงตา  ใบโคกสูง

กลุ่มบริหารจัดการระดับต้น ประเภท หัวหน้างาน หัวหน้ากลุ่มภารกิจ หรือเทียบเท่า

6.2 นางสาวกรรณิการ์ สวรรค์โพธิพันธุ์

กลุ่มปฏิบัติการและวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่าง ๆ ระดับปริญญาตรีขึ้นไป

บุคลากรสายปฏิบัติการตำแหน่งอื่น ๆ ที่มีอายุการปฏิบัติงาน 3 ปี ขึ้นไป

6.3 นางวะรีทิพย์ เจริญไว้สมบัติ

กลุ่มปฏิบัติการและวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่าง ๆ ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี

6.4 กลุ่มบุคลากรคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประเภทกลุ่มบุคลากรยอดเยี่ยมขนาดเล็ก

  • นางพัชราภรณ์ กองเพ็ชร
  • นางสาวพัชรี ก๋งอุบล
  • นางสาวสุขกมล พันธไชย
  • นางสาวเสาวลักษณ์ หรั่งทรัพย์
  • นางสาวอรวรรณ เปตะคุ
  • นางสาวมโนทัย ศรีละออ

คณาจารย์และนิสิต คณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้รับ 4 รางวัลบทความวิจัยดีเด่นจากงาน IE Network 2022

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 บทความวิจัยจากคณาจารย์และนิสิต ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และสำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 4 บทความ ได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่นจากการประชุมวิชาการข่ายงานวิศวกรรมอุตสาหการ ครั้งที่ 40 ประจำปี 2565 (IE Network 2022)

บทความวิจัยทั้งสามเรื่องที่ได้รับรางวัลประกอบด้วย บทความวิจัยเรื่อง “การพัฒนาแอพพลิเคชันการมองเห็นคุณภาพของพารามิเตอร์โดยใช้เทคนิคสกรัมของเอไจล์” โดยนายสิริภพ อยู่ยงชื่น (นิสิตระดับปริญญาโท ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ) ผศ. ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ (ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ) และ อาจารย์ ดร.จิง ถาง (อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ สำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ)

บทความวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้ฮิวริสติกส์แบบ 2 ขั้นสำหรับการจัดตารางการผลิตในกระบวนการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ลงบนแผ่นวงจร” โดยนายพัฒนโชค อินทะโส (นิสิตระดับปริญญาโทภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ) และ ผศ. ดร.พิศิษฎ์ จารุมณีโรจน์ (ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ)

บทความวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงสถานีงานตรวจสอบถังแก๊สคลอรีนโดยใช้การประเมินทางชีวกลศาสตร์” โดยนายภาณุพงศ์ ภาวิไล (นิสิตระดับปริญญาโทภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ) และ ผศ. ดร.ไพโรจน์ ลดาวิจิตรกุล (ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ)

และบทความวิจัยเรื่อง “การเปรียบเทียบการวัดกำลังของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ระหว่างแบบสถิตและแบบพลวัตแฝง” โดยนายภูวเดช เสน่ห์เมือง (นิสิตระดับปริญญาโทภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ) และ ผศ. ดร.ไพโรจน์ ลดาวิจิตรกุล

ทั้งสี่บทความได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการให้ได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่นในการประชุมวิชาการข่ายงานวิศวกรรมอุตสาหการ ประจำปี 2565 (IE Network 2022) จัดขึ้นโดยภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการและการจัดการ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2565

เปิดรับสมัครเข้าศึกษาใน Chula Engineering RDM01 การจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติเบื้องต้น

🚩”เพราะในทุก ๆ สิ่งนั้นมีความเสี่ยง ไม่เชื่อก็ลองเอาปากกามาวงสิครับ”
มาร่วมเรียน และทำความรู้จักกับทั้งความเสี่ยงและวิธีการจัดการไปด้วยกัน
ผ่านรายวิชา #การจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติเบื้องต้น #RDM01
ในโครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
.
เปิดรับสมัครนิสิต บุคลากรจุฬาฯ และบุคคลทั่วไป ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
Website: https://www.eng.chula.ac.th/th/academics/lifelong-learning-program

ขอแสดงความยินดีกับนิสิตวิศวฯ ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ในการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย รายการ PLC Competition- Robo Saleng

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับนายรังสิมันต์ กุลเพชรจิระ นายสิรภพ เวสน์ไพบูลย์ และนายอิทธิพัฒน์ รอดประดับ นิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า โดยมี อาจารย์ ดร.ณพงศ์ ปณิธานธรรม เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน ในโอกาสที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ในการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย รายการ PLC Competition- Robo Saleng จัดโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์การค้า เดอะมอลล์ บางกะปิ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมกับ สถานีวิทยุแห่งจุฬาฯ จัดกิจกรรมค่ายอบรมเสริมสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการ Envi Mission: ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่ 3

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมค่ายอบรมเสริมสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และส่งเสริมทักษะเตรียมความพร้อมในการนำความรู้ด้านนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนภายใต้ โครงการ “Envi Mission: ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยปีนี้จัดในธีม Make It Balance: มั่นคงรอบด้าน อาหาร-น้ำ-พลังงาน” ระหว่างวันที่ 24-26 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดสระบุรี เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในมิติความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างอาหาร-น้ำ-พลังงาน (Food-Water-Energy Nexus) ในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา พร้อมสนับสนุนให้เกิดการนำความรู้สามารถนำไปต่อยอดใช้จริงในท้องถิ่นของตนเอง ตลอดจนยังเป็นการส่งเสริมให้นิสิตของคณะได้มีส่วนร่วมกับสังคมท้องถิ่นด้วย

โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้เดินทางไปเยี่ยมเยียน พร้อมทั้งให้โอวาทและมอบเกียรติบัตรแก่น้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาและคณาจารย์ที่ปรึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 30 ทีม จาก 200 ทีมทั่วประเทศที่นักเรียนระดับมัธยมได้สนใจร่วมส่งผลงานไอเดียมากมายมาคัดเลือก และกล่าวถึงความสำคัญของการจัดโครงการส่งเสริมและสร้างสังคมอย่างยั่งยืนว่า “ภารกิจรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นกิจกรรมหนึ่งที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ตระหนักถึงความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรสำคัญ 3 ประเภทต่อวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ อันได้แก่ น้ำ อาหาร และพลังงาน กล่าวคือ “น้ำ” อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ดังนั้นการสร้างจุดสมดุลระหว่างทรัพยากรทั้ง 3 ประเภทจึงมีความสำคัญ ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีกระบวนการคิดและความยั่งยืน และต้องการส่งเสริมความร่วมมือในการขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วยการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการภารกิจรักษ์ขึ้น

ขอแสดงความยินดีกับ ศ. ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณบดีคณะวิศวฯ จุฬาฯ และคณะทำงาน เข้ารับรางวัล Prime Minister Road Safety Award ในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับ ศ. ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณบดีคณะวิศวฯ จุฬาฯ และคณะทำงาน เข้ารับรางวัล Prime Minister Road Safety Award ในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” New decade, New normal, Safe driving is priority ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

รางวัล Prime Minister Road Safety Award เป็นรางวัลที่มอบแก่บุคคลหรือหน่วยงานที่มีผลงานเด่นชัดในการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทั้งนี้ หน่วยงาน ThaiRAP ภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ริเริ่มกลยุทธ์ และการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้กรอบของ International Road Assessment Programme (iRAP) เพื่อให้ประเทศไทยมีเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และกระตุ้นให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัยทางถนน บนพื้นฐานของข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence based) ผ่านการประเมินด้วยระบบการให้คะแนนแบบดาว (Star Rating) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและมีการใช้งานในมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน

กรอบการดำเนินงานของ ThaiRAP จะมีส่วนช่วยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน ได้แก่

  • เป้าหมาย SDG ที่ 3.6 ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่ง
  • เป้าหมาย SDG ที่ 9.1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืน และมีความยืดหยุ่น ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาคและที่ข้ามแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งไปที่การเข้าถึงได้ในราคาที่สามารถจ่ายได้และเป็นธรรมสำหรับประชาชนทุกคน
  • เป้าหมาย SDG ที่ 11.2 จัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะและคำนึงเป็นพิเศษถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความพิการ และผู้สูงอายุ

โดยรูปแบบการจัดงาน จะเป็นการนำเสนอสถานการณ์เสี่ยงด้านอุบัติเหตุทางถนนในรูปแบบใหม่ ภายใต้การระบาดของสถานการณ์โควิด-19 เกิดการปรับตัวของผู้เดินทางเป็นวิถีชีวิตใหม่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังในการปรับมาตรการ นโยบายการจัดการของทุกภาคส่วน ให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งภายในงานจะมีการนำเสนอ Key Message สำคัญ อาทิเช่น 50 by 30 ต้องทำอะไร จึงจะลดตายได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573 ความรับผิดชอบและบทบาทหน้าที่ในการสร้างระบบความปลอดภัยทางถนนภายใต้วิถีชีวิตใหม่

Alstom จับมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกระดับวงการรถไฟไทยและร่วมผลิตวิศวกรที่มีทักษะเป็นเลิศออกสู่สังคม

Alstom ผู้นำระดับโลกด้านการสัญจรระบบรางอัจฉริยะที่มีความยั่งยืน และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula Engineering) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวงการรถไฟไทยและความร่วมมือในอีกห้าปีข้างหน้า

Alstom และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ตลอดจนโครงการด้านการศึกษาและการฝึกอบรมในสาขาวิศวกรรมระบบรางที่มีความเฉพาะทางเป็นพิเศษ และด้วยประเทศไทยกำลังพัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยมีการสร้างโครงการขนส่งสาธารณะหลากหลายโครงการทั้งในและนอกเขตกรุงเทพฯ ดังนั้นประเทศจึงต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านการรถไฟท้องถิ่นจำนวนมาก

Alstom ไม่ใช่คนอื่นคนไกล เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีศิษย์เก่าจากรั้วจามจุรีกว่า 20 คนจากหลายสาขาวิชาได้มาร่วมงานกับ Alstom Group แห่งประเทศไทยที่มีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนโครงการด้านการสัญจรระบบรางท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอีกหลายโครงการในต่างประเทศอีกด้วย ทุกวันนี้ศูนย์ปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ได้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นศูนย์กลางด้านวิศวกรรมระดับหนึ่งในสามศูนย์ของโลกที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่ปี 2538  และมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 450 คน โดยเป็นวิศวกรไทยถึงร้อยละ 85 ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา จะช่วยสานประโยชน์ให้แก่วงการรถไฟ และเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟในขณะที่กำลังศึกษาอยู่ นิสิตจะได้ร่วมฝึกงานและเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ ตลอดจนกิจกรรมทางวิชาการอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นการเตรียมบุคลากรให้พร้อมสำหรับอนาคตของการคมนาคมขนส่งไทย

ดร.แคทริน ลูเกอร์ กรรมการผู้จัดการ Alstom แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในด้านระบบรถไฟในเมืองและรถไฟสายหลักในประเทศไทย รวมถึงบริษัทก็ได้เปิดทำการมายาวนานกว่า 40 ปี เราจึงมีความรู้และประสบการณ์ด้านการสัญจรระบบรางที่ดีที่สุด  เรารู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นสถาบันวิศวกรรมที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรถไฟ เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันวิทยาการกับคณะวิศวกรรม จุฬาฯ รวมถึงเยาวชนที่มีความรู้ความสามารถด้านวิศวกรรม เราพร้อมที่จะพัฒนาและดูแลบุคลากรที่มีความสามารถในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคระบบรางอย่างลึกซึ้ง รวมทั้งความสามารถในสายงานอื่น ๆ เพื่อพลิกโฉมหน้าการคมนาคมทั้งในและนอกประเทศไทย”

ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ความต้องการบุคลากรมืออาชีพเพิ่มขึ้นหลังจากเริ่มมีการพัฒนาระบบขนส่งในหลายพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งทำให้นิสิตนักศึกษาหันมาสนใจวิศวกรรมการรถไฟมากขึ้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน เช่น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธา เป็นต้น ซึ่งช่วยวางรากฐานด้านแนวคิดและทฤษฎีให้นิสิตได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้     เมื่อนิสิตได้มีโอกาสฝึกงานกับผู้นำระดับแนวหน้าอย่างบริษัท Alstom และเรียนรู้การประยุกต์ใช้งานจริงในอุตสาหกรรมนี้ พวกเขาจะได้เรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะของตนให้ดียิ่งขึ้น”

บันทึกความเข้าใจ (MoU) ฉบับนี้ได้ลงนามในงาน Asia Pacific Rail 2022 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก อีกทั้งยังเป็นนิทรรศการระดับภูมิภาคที่จัดขึ้นในสถานที่จริงครั้งแรกของ Alstom ในรอบกว่าสองปีด้วย Alstom ต้องการส่งเสริมบุคลากรด้านวิศวกรรมให้มีความพร้อมในภาคอุตสาหกรรมการสัญจรระบบราง อีกทั้งยังมองเห็นสัญญาณบวกในตลาดประเทศไทย บริษัทจึงกำลังจะเปิดรับสมัครบุคลากรที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ภายในสิ้นปี 2565 โดยมุ่งเฟ้นหาบุคลากรในหลายตำแหน่งทั่วทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ภาคการผลิตไปจนถึงกระบวนการ การสนับสนุนการผลิตและฟังก์ชัน ทั้งนี้การสรรหาบุคลากรที่ได้ประกาศรับสมัครไปในนิทรรศการนั้นจะเป็นการผสมผสานระหว่างวิศวกร ช่างเทคนิค และผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า