พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ กับ บริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ จำกัด

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.วิวัฒน์ วงศ์วราวิภัทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ กับ บริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ จำกัด ณ ห้องประชุมสวนรวมใจ 2 ตึก 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.แนบบุญ หุนเจริญ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า นายธนพร แสงไพฑูรย์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ จำกัด และผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นสักขีพยาน

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี ระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ กับ บริษัท ดีไซน์ เกทเวย์ จำกัด ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันสนับสนุนการศึกษา เพื่อพัฒนาและต่อยอดให้กับนิสิตและคณาจารย์ รวมไปถึงผู้ที่สนใจในเทคโนโลยีทางด้าน Digital Logic Design และ Programmable Logic Design Technology เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศสำหรับการยกระดับมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและส่งกลับสู่สังคมเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

คณะวิศวฯ จุฬาฯ เปิดรับสมัครเข้าศึกษาหลักสูตรใหม่ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (IES)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับสมัครเข้าศึกษาหลักสูตรใหม่ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Innovative Engineering for Sustainability) หรือ หลักสูตร IES

เปิดรับสมัคร วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทรศัพท์: 0-2218-7813
อีเมล: iesprogram@eng.chula.ac.th

เปิดรับสมัครโครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning รอบที่ 2

กลับมาอีกครั้งโอกาสแห่งการเรียนรู้ โดยวิศวฯ จุฬาฯ
โครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning รอบที่ 2

⚙️เปิดรับสมัคร 21 เม.ย. ถึง 18 พ.ค.65
⚙️เริ่มเรียนตั้งแต่ เดือน พ.ค. ถึง ส.ค. 65
(ขึ้นอยู่กับรายวิชา)

สิทธิพิเศษ : สำหรับนิสิตหรือผู้ปฏิบัติงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีคุณสมบัติตาม ประกาศรับสมัครเข้าศึกษาจะได้รับการยกเว้นค่าเรียนในหลักสูตร

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โทรศัพท์: 0-2218-7813
อีเมล: Lifelonglearning_program@eng.chula.ac.th
เว็บไซต์: https://www.eng.chula.ac.th/th/academics/lifelong-learning-program

สามหน่วยงานจุฬาฯ รวมพลังพัฒนานวัตกรรมหน้ากากรางวัลระดับโลกมาให้ชาวไทยได้ใช้เพื่อช่วยป้องกันภัยทางสาธารณสุข

หน้ากาก CUre Air Sure ซึ่งมีประสิทธิภาพการกรองอากาศสูงถึง 99% เกิดจากความร่วมมือภายในสถาบันต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยปัจจุบันมีบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศได้นำไปใช้งานแล้วกว่าแล้วกว่า 18,000 ราย รวมถึงในโรงพยาบาลจุฬาฯ และหน้ากากดังกล่าวได้รับรางวัลระดับโลกด้านนวัตกรรมการดีไซน์ทางสุขภาพจากเวที Good Design Award 2021 ประเทศญี่ปุ่น วันนี้พร้อมแล้วที่จะนำมาให้ประชาชนได้ใช้ในการป้องกันตนเองในช่วงระยะเวลาที่มีความเสี่ยงสูงในประเทศไทย

รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า

“คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักดีถึงปัญหาทางสุขภาพของคนไทยที่เกิดได้จากทางอากาศหายใจ  จึงได้ร่วมมือพัฒนานวัตกรรมหน้ากาก CUre AIR SURE โดยความร่วมมือกันในครั้งนี้เกิดจากคณาจารย์จากภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์เป็นผู้ร่วมทำการวิจัยในโครงการดังกล่าวกับสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ (MMRI) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จากความสนับสนุนอย่างดีจากทุกฝ่ายจนได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเลิศ จนเกิดนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเสริมสร้างความปลอดภัยและใช้งานง่าย

ศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์มีความตั้งใจที่จะร่วมพัฒนาและนำผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่เป็นนวัตกรรมทางสุขภาพจากจุฬาลงกรณ์หมาวิทยาลัย ออกสู่การใช้งานของประชาชนเพื่อส่งเสริมสุขภาพของคนไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป ดังเช่นหน้ากาก Cure Air Sure นี้เป็นต้น”

ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสริมว่า

“ความสำเร็จของนวัตกรรมหน้ากาก CUre AIR SURE นั้น เกิดจากการการผนึกกำลังกันเป็นระยะเวลากว่าปีของสามสถาบันภายในของจุฬาฯ แบบ cross discipline พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเอกชนเช่น SCG Packaging, เครือบริษัทTCP เครือสหพัฒน์ และภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ  ที่ร่วมแรงและร่วมใจใจตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิตชิ้นส่วน จนถึงกระบวนการประกอบ ซึ่งล้วนเกิดขึ้นในประเทศ

สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือกันในครั้งนี้ก็คือผลิตภัณฑ์ที่ ผ่านการทดสอบจากห้องแล็บมาตรฐานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศตามมาตรฐานสากล ASTM ที่พบว่าเป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าหน้ากาก N95 เนื่องจาก

  • ประสิทธิภาพการกรองอานุภาคขนาด 0.1 micron สูงถึงประมาณ 99%
  • Fit Test Score ความกระชับไม่รั่วไหล 192 คะแนน ให้ปลอดภัยสูงแม้ในพื้นที่เสี่ยง
  • หายใจสะดวกกว่าหน้ากาก N95 หรือหน้ากากสองชั้น ทั้งยังดูแลรักษาง่าย
  • ประหยัดและลดมลภาวะเพราะตัวหน้ากากใช้ซ้ำได้นานนับปี เพียงเปลี่ยนแผ่นกรองอาทิตย์ละครั้ง

จากความมั่นใจที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ผนึกกำลังกันในครั้งนี้จากทุกภาคส่วน สู่ความต้องการที่จะให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง จุฬาฯ จึงได้ส่งมอบหน้ากาก CUre AIR SURE กว่า 18,000 ชุดให้บุคลากรในโรงพยาบาลและผู้ที่ทำงานในแนวหน้า กว่า 300 แห่งทั่วประเทศ และพบว่าผลตอบรับจากการใช้งานจริงเป็นที่ประทับใจ เนื่องจากหายใจสะดวก ดูแลรักษาง่าย เหมาะที่จะใช้งานได้ในทุกพื้นที่ และใช้ได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัยได้นับปี ทำให้ต้นทุนในการใช้ต่อวันนั้นค่อนข้างต่ำในขณะที่ได้รับการปกป้องในระดับสูงที่สุด

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีเทคโนโลยีในการป้องกันคนไทยจากอันตรายต่าง ๆ ที่มาทางอากาศที่หายใจ  จึงได้อนุมัติงบประมาณจากกองทุน C2F (กองทุนเพื่อศตวรรษที่สองของจุฬาฯ) เพื่อจัดตั้งแล็บพิเศษโดยเฉพาะสำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการกรองขึ้น ซึ่งแล็บนี้ประกอบไปด้วยนักวิจัยมากกว่าสิบท่านจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและวิทยาการทางด้านการกรองอนุภาคต่าง ๆ ในหลากหลายวิธีการใช้งานต่อไป”

CUre AIR SURE พัฒนาโดยบริษัท CUre Enterprise ซึ่งเป็นหน่วยงาน spin-off ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผลประกอบการกว่าครี่งจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนานวัตกรรมทางสุขภาพสำหรับประชาชนไทยอย่างต่อเนื่อง

หน้ากาก CUre AIR SURE มีวางจำหน่ายแล้วที่

  • ร้านโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ
  • ร้านขายยาในเครือ Pharmax
  • Shopee และ LAZADA

ราคาชุดลละ 500 บาท พร้อมแผ่นกรองกรองสำหรับการใช้งานหนึ่งเดือน และชุดแผ่นกรองกรองราคา 100 บาท (สำหรับใช้งานหนึ่งเดือน)

วิศวฯ จุฬาฯ จับมือเครือข่ายวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย จัดเสวนา นโยบายผู้สมัครผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายคณาจารย์ นิสิต นักศึกษา วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย และศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนา CHULA the Impact ครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ “นโยบายผู้สมัครผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน” โดยมีผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 4 ท่าน ร่วมงานเสวนา ได้แก่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และคุณสกลธี ภัททิยกุล พร้อมด้วยวิทยากรผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษ (ศวอ.) และรศ. ดร.รณชัย ติยะรัตนชัย รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาบุคคลและชุมชน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ศ. ดร.เกษม ชูจารุกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกล่าวเปิดในกิจกรรมเสวนาฯ

รศ. ดร.รณชัย ติยะรัตนาชัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตัวแทนเครือข่าย กล่าวถึง แนวทางของหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs โดยเสนอให้ผู้สมัครผู้ว่า กทม. ใช้แนวทางของหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประกอบไปด้วย 17 หัวข้อการพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม ในเรื่องของปัญหาปากท้อง สุขภาพ ตลอดจนการศึกษา รวมถึงการแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของมลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดีและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและเหมาะสมต่อการใช้ชีวิต

ด้าน รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ปัญหามลพิษ (ศวอ.) กล่าวว่า มาตรฐานคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงดีขึ้นตามลำดับ เป็นที่น่าพอใจของหน่วยงานรัฐ แต่หากเทียบกับต่างประเทศโดยเฉพาะองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงไม่เป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศในกรุงเทพมหานคร พบว่าสาเหตุหลักกว่าร้อยละ 54 มาจากการขนส่งทางถนน พร้อมทั้งเสนอแนะการจัดการคุณภาพอากาศ ได้แก่ การปรับมาตรฐานคุณภาพอากาศในปัจจุบันให้มีความเหมาะสมมากขึ้นและให้สอดคล้องต่อมาตรฐานคุณภาพอากาศสากลเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษอากาศ รวมถึงการจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศหลักๆ เช่น การจัดตั้งมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงกำมะถัน และการตรวจสอบรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงการสนับสนุนการเข้าถึงระบบสาธารณะ การสื่อสารกับภาคประชาชนให้มีความรู้และข้อมูลทางด้านคุณภาพอากาศและการรับมือ

ด้าน ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวถึง นโยบายเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในกรุงเทพมหานครไว้ 9 ด้านได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการศึกษา ด้านการเดินทางและคมนาคม ด้านโครงสร้างของสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการสร้างเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ และด้านการจัดการบริหารให้มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาด้านมลพิษอากาศ โดยจะอาศัยมาตรการทางกฎหมายมาช่วยควบคุมการแพร่กระจายของมลพิษทางอากาศ  โดยเน้นที่มาตรการควบคุมมลพิษที่แหล่งกำเนิด และมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่

ทางด้าน คุณสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร เสนอให้ใช้มาตรการกฎหมายในการแก้ไขปัญหา การลักลอบทำผิดกฎหมายที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น การลักลอบเผาขยะ และการบริหารและความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหามลพิษทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเน้นไปที่การจัดการขยะภายในเขตกทม. โดยเห็นควรให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทและความรับผิดชอบในการจัดการปัญหาขยะมากขึ้น เพื่อลดต้นตอส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งทางสาธารณะ

สำหรับ ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวเสนอแนวทางการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดเสมอภาคในสังคม โดยมุ่งแนวคิดผู้ก่อให้เกิดปัญหาต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีแนวคิดเสนอมาตรการในการดำเนินการกับผู้ให้กำเนิดมลพิษ ต้องเป็นผู้ที่จัดการกับมลพิษด้วยตนเอง โดยไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้ก่อมลพิษต้องรับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้ยังเน้นย้ำการใช้กฎหมายที่เคร่งครัดในการจัดการกับมลพิษที่แหล่งกำเนิด เช่น การใช้กฎหมายสั่งควบคุมการปล่อยมลพิษจากปากปล่องของโรงงาน ถ้ามีค่าเกินมาตรฐาน ต้องถูกสั่งปิดจนกว่าจะสามารถบำบัดมลพิษให้ได้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพอากาศ

และ ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กล่าวถึงนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ด้วยหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจะเน้นการพัฒนาในเรื่องการขจัดความยากจน ปัญหาปากท้อง และมาตรฐานการศึกษาให้ดีขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ว่าควรมีการดำเนินการในระดับของนโยบาย เพื่อสร้างแนวทางในการแก้ไขปัญหา เน้นการมองภาพโดยรวมของปัญหา และควรมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ทั่วพื้นที่ในเขตกทม. โดยขอความร่วมมือกับสถานศึกษา เพื่อกระจายความรู้และข้อมูลด้านมลพิษและคุณภาพอากาศให้ประชาชนอย่างทั่วถึง รวมถึงการใช้เครื่องมือทางด้านกฎหมายและเศรษฐกิจในการควบคุมมลพิษที่แหล่งกำเนิด

ทั้งนี้ สามารถรับชมงานเสวนา “นโยบายผู้สมัครผู้ว่า ผู้ว่า กทม. กับการบริหารจัดการขยะ น้ำ อากาศ และเมืองยั่งยืน” หัวข้อ การจัดการคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร ย้อนหลังได้ที่ www.facebook.com/ChulalongkornUniversity

พิธีเปิดศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering Research Center)

เมื่อวันอังคารที่ 29 มีนาคม 2565 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดพิธีเปิดศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering Research Center) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับทุน “สร้างเสริมพลังจุฬาฯ” ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ช่วงที่ 2 ณ หอประชุม 117 อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวชผ่านระบบ Metaverse ที่จำลองสถานที่ศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช ที่ตั้งอยู่ที่ชั้น 10 อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับชมผ่านโลกเสมือน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากทีมคณาจารย์และนิสิตภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าในการจัดทำระบบ Metaverse นับเป็นนวัตกรรมการเปิดงานในยุค New Normal ที่ช่วยลดความเสี่ยงในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ภก. ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานแผนงานกองทุนศตวรรษที่ 2 (C2F) และ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึงความสำคัญในการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวชในครั้งนี้เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการยกระดับมหาวิทยาลัย สร้างเสาหลักสำคัญของมหาวิทยาลัยเพื่อให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนามหาวิทยาลัยให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและโลกในศตวรรษใหม่ คือ BAScii, Siam innovation District และ University Technology Center โดยหนึ่งในเป้ายุทธศาสตร์หลัก คือ การผลักดันและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านชีวการแพทย์ สร้างผลกระทบต่อสังคมและสังคมสูงวัย การจัดตั้งศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวชเป็นกลยุทธที่สำคัญของจุฬาฯ ที่จะสร้างเครือข่าย และผนึกกำลังของคณาจารย์และนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และ คณะสัตวแพทยศาสตร์ เข้าด้วยกัน มุ่งเน้นการดำเนินงานพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง สร้างผลกระทบในวงกว้างให้กับประเทศไทยและต่างประเทศ

ภายในงานได้จัดให้มีการนำเสนอผลงานโครงการนวัตกรรมวิศวกรรมชีวเวช จำนวน 5 โครงการ ได้แก่

  1. โครงการการขอรับรอง CE Mark ระบบริหารคุณภาพ (ISO 13485) และการทดสอบทางคลินิกของเท้าเทียมไดนามิกส์สำหรับผู้พิการขาขาด โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ
  2. โครงการพัฒนาอนุภาคกระดูกเทียมจากโปรตีนไหมไทย และแคลเซี่ยมฟอสเฟต โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โศรดา กนกพานนท์
  3. โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุปกรณ์นำทางเข็มสำหรับเครื่องอัลตร้าซาวน์และต้นแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดไมครอน โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีระยุทธ ศรีธุระวาณิช
  4. โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์กระดูกไทเทเนียมสั่งตัดเฉพาะบุคคล โดย รองศาสตราจารย์ ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน / ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชษฐา พันธ์เครือบุตร
  5. โครงการนวัตกรรมช่วยสังคมในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์

ปัจจุบันศูนย์วิจัยวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering Research Center) มีคณะกรรมการบริหารศูนย์วิจัยที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายหน่วยงาน อาทิเช่น ผู้แทนกรรมการบริหารหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช ผู้แทนจากสำนักบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ ผู้แทนจากคณะแพทยศาสตร์ เป็นต้น

ภายในงานยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญ คือ พิธีลงนาม MOU ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และบริษัท เมติคูลี่ โดย คุณมกร พงษ์ธนพฤกษ์ กรรมการบริษัท เมติคูลี่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีวิศวกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ร่วมกัน

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี ระหว่างภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กับ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.วรวุฒิ วรุตตมพรสุ Country Managing Director บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี ณ ห้องประชุมสวนรวมใจ 2 ตึก 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย เตชัสอนันต์ รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ด้านความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและความร่วมมือกับต่างประเทศ รองศาสตราจารย์ ดร.เชาวน์ดิศ อัศวกุล รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ด้านวิจัยและการสร้างผลกระทบต่อสังคม และ ดร.ประดิษฐพงษ์ สุขสิริถาวรกุล Director & Vice President บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมในพิธี

การลงนามในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ในการที่จะสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา การวิจัยพัฒนา และการเรียนรู้ทางเทคโนโลยี ให้กับนิสิตและคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับพลังงานในปัจจุบันและอนาคต อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน (Energy Transition) ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไมโครกริด (Microgrid) ระบบกักเก็บพลังงานแบบแบตเตอรี่ (BESS) การขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า (e-Mobility) ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และอนาคตทางพลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy Future) ทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสและยกระดับมาตรฐานการศึกษา พัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ความสามารถด้านพลังงานของประเทศ ให้สอดคล้องกับความต้องการบุคลากรผู้มีความรู้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับประเทศได้ในระยะยาว

พร้อมกันนี้ทางภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ส่งนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สนใจเข้าฝึกงานที่บริษัทประจำปี 2565 เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 280 ชั่วโมง เข้าร่วมในโครงการ Supporting Apprentice Students Program กับทางบริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด อีกด้วย ซึ่งทางบริษัทพร้อมเปิดโอกาสให้นิสิตทุกคน ร่วมแสดงความคิดเห็นและพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ด้วยแนวทางการประสานความหลากหลาย ผสานการทำงานร่วมกัน เพื่อนำมาซึ่งนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยม โดยตลอดการฝึกงานนิสิตทุกคนจะมีผู้เชี่ยวชาญ และผู้ให้คำแนะนำในแต่ละขอบเขตงานที่เลือก เพื่อให้ได้รับความรู้ทักษะอย่างสูงสุดจากผู้เชี่ยวชาญ และเพิ่มประสิทธิผลระหว่างการฝึกงานอย่างเต็มที่ ก่อนสิ้นสุดโครงการทางบริษัทมีระบบประเมินผล รวมถึงระบบการสัมภาษณ์เชิงพฤติกรรม เพื่อวัดทัศนคติ ความรู้ ทักษะที่ได้รับจากการฝึกงานของโครงการ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีกลุ่มเทคโนโลยีให้นิสิตได้เลือกฝึกงานตามความสนใจ 14 กลุ่ม ประกอบด้วย

  1. Grid Edge Solutions with e-mesh™
  2. Grid-eMotion™ Charging solutions for E-mobility
  3. Hydrogen Energy
  4. Power Quality
  5. Digitalization & Cybersecurity
  6. Asset & Work Management with Lumada
  7. Energy Planning & Trading
  8. EconiQ™ eco-efficient portfolio for sustainability
  9. FACTS (Flexible Alternating Current Transmission Systems) technologies
  10. HVDC (high-voltage direct current)
  11. Smart Grid & Digital Substations & Electrification
  12. Power Transformers with TXpert™ Ecosystem
  13. Substation Automation, Protection & Control and SCADA
  14. High Voltage Switchgear & Breakers, Instrument Transformer, Surge Arrester, Capacitor & Filters and Generator Circuit Breakers

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยและทางบริษัทจะได้มีโอกาสร่วมกันกำหนดรูปแบบ ลักษณะของการให้การสนับสนุนทางการศึกษา การทำโครงงาน และการฝึกงานให้แก่นิสิต เช่น การฝึกงานในโครงการ Supporting Apprentice Students Program การอบรมสัมมนา การวิจัย การสนับสนุนอุปกรณ์ Hardware และสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนของโครงงานของนิสิต ทั้งในระดับระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัย สำหรับบันทึกข้อตกลงนี้มีระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในข้อตกลง ซึ่งทั้งสองฝ่ายอาจตกลงกันขยายระยะเวลาความร่วมมือออกไปได้ตามความเห็นชอบร่วมกันในอนาคต

ขอแสดงความยินดีกับ ศ. ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ Honorary Order Award ระดับ Commander ซึ่งเป็นระดับขั้นสูงสุด (Higher 1st Rank) มอบโดย The Committee of The Honorary Order, The 15th Anniversary of the Romanian Inventors Forum ของประเทศโรมาเนีย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ  Honorary Order Award ระดับ Commander ซึ่งเป็นระดับขั้นสูงสุด (Higher 1st Rank) มอบโดย The Committee of The Honorary Order, The 15th Anniversary of the Romanian Inventors Forum ของประเทศโรมาเนีย  เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พศ. 2564 สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานวิชาการดีเด่นในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับผลงานเด่นในระดับนานาชาติที่ผ่านมาของศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล อาทิ

  • รางวัล Alberto Rozzi  Award สำหรับ Best Paper Award สาขา Biological Waste Treatment ในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดด้าน waste management  “The 13th International Waste Management and Landfill”  ณ ประเทศอิตาลี มอบให้โดยองค์กร IWWG
  • รางวัลวิศวกรดีเด่นของอาเซียนสาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (ASEAN Outstanding Engineering Achievement Award in Environmental Engineering)  ปี 2013  มอบโดยองค์กร ASEAN Federation of Engineering Organization
  • รางวัล Best Paper Award – First Prize  จากงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ International Conference on Integrated Environmental Management for Sustainable Development, Tunisia  ปี 2016 (Supported by Springer Publishing

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ กับบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จํากัด

เมื่อวันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับนายสยามรัฐ สุทธานุกูล Chief Marketing Officer Marketing and Branding และกรรมการบริหาร CPAC ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี ณ สวนรวมใจ 1 อาคารวิศวกรรมศาสตร์ 3 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา รองศาสตราจารย์ ดร.ธนิต ธงทอง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา รองศาสตราจารย์ ดร.วัชระ เพียรสุภาพ รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา นายวีระวงค์ วงศ์วัฒนะเดช Strategic Marketing Director Marketing and Branding นายพงศ์ธนา เดชวิทยาพร Management Executive – Chief Marketing Officer Marketing and Branding และนายธีระยุทธ พันธ์มีเชาว์ Technical Service Strategy Director Marketing Officer Marketing and Branding บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จํากัด ให้เกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานลงนามในครั้งนี้ด้วย

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ กับบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จํากัด ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานวัตกรรมและยกระดับมาตรฐานงานก่อสร้างไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ด้วยการร่วมวิจัย พัฒนา และแลกเปลี่ยนความรู้ รวมทั้งร่วมสร้างและถ่ายทอดนวัตกรรมระหว่างภาควิชาวิศวกรรมโยธา กับบริษัทฯ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

คณะวิศวฯ ขอแสดงความยินดีกับ ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ในโอกาสที่ได้รับเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 28 จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ในโอกาสที่โครงการวิจัย “การศึกษาประสิทธิภาพของกระบวนการรวมตะกอนสำหรับกำจัดอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กในระบบบำบัดน้ำ” ได้รับเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 28 พ.ศ. 2564 สาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย

โดยมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ณ โรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะสุรวงศ์ โดยมี ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ฯพณฯ นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิฯ เข้าร่วมพิธี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า