คณะวิศวฯ ร่วมกับหน่วยงานระดับชาติและนานาชาติ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ THA 2022 ในหัวข้อ “การมุ่งสู่การจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนหลังโควิด-19”

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับหน่วยงานระดับชาติและนานาชาติ จัดประชุมวิชาการนานาชาติ THA 2022 ในหัวข้อ “การมุ่งสู่การจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนหลังโควิด-19” ระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2565

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะกรรมการอำนวยการ THA 2022 นำคณะผู้จัดงานประชุมร่วมต้อนรับ ฯพณฯ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ซึ่งให้เกียรติมาเป็นประธานกล่าวเปิดงานและกล่าวปฐกถาในพิธีเปิดการประชุมนานาชาติ THA 2022

ในช่วงพิธีเปิด ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อเกี่ยวกับการจัดการน้ำและความยั่งยืน จากผู้บริหารธนาคารโลก UNDP และเลขาธิการ สทนช.

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในรูปแบบออน์ไลน์ โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ Keynote Presentation, Executive Panel Discussion, Technical Presentation, Training, Virtual Exhibition มีนักวิชาการ นักวิจัย ผู้ปฏิบัติงาน และผู้กำหนดนโยบาย ในสาขาที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดการน้ำและความยั่งยืนจากนานาชาติ กว่า 200 ท่าน เข้าร่วมในพิธีเปิด เพื่อร่วมแบ่งปันและนำเสนอมุมมอง ประสบการณ์ ความก้าวหน้าในงานวิจัย ประเทศไทยสามารถนำองค์ความรู้จากเวทีการประชุมนี้มาเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการจัดการน้ำ และภัยพิบัติได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้ประเทศไทยพัฒนาได้อย่างยั่งยืน

หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการจัดการน้ำมันรั่วและการปนเปื้อนของน้ำมัน ร่วมกับคณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้ทำการจำลองการเคลื่อนตัวของน้ำมันที่รั่วไหลจากบริเวณจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ทำให้สามารถประเมินสถานการณ์และเห็นถึงความเร่งด่วนที่จะต้องรีบจัดการกับปัญหา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำมันที่รั่วไหลเคลื่อนตัวไปยังบริเวณใกล้ชายฝั่ง

หน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการจัดการน้ำมันรั่วและการปนเปื้อนของน้ำมัน (Research Unit on Technology for Oil Spill and Contamination Management) ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการจำลองการเคลื่อนตัวของน้ำมันที่รั่วไหลจากบริเวณจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลเมื่อคืนวันที่ 25 มกราคม 2565 โดยใช้แบบจำลอง Delft3D model เพื่อคาดการณ์กระแสน้ำเนื่องจากน้ำขึ้นน้ำลง และนำกระแสน้ำที่ได้ไปใช้คาดการณ์การเคลื่อนตัวของน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลด้วยแบบจำลอง GNOME ร่วมกับข้อมูลลมที่ได้จากเว็บไซต์ Windy ซึ่งมีความเร็วลมเฉลี่ย 3 m/s มุ่งหน้าไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจากการคาดการณ์พบว่าน้ำมันที่รั่วไหลมีโอกาสจะเคลื่อนตัวขึ้นสู่ชายฝั่งบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าในวันที่ 29 มกราคม 2565 เวลาประมาณ 16.00 น.

แบบจำลองดังกล่าวทำให้สามารถประเมินสถานการณ์และเห็นถึงความเร่งด่วนที่จะต้องรีบจัดการกับปัญหา เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำมันที่รั่วไหลเคลื่อนตัวไปยังบริเวณใกล้ชายฝั่งซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยรอบตลอดจนการวางแผนฟื้นฟูในระยะยาวสำหรับบริเวณที่มวลน้ำมันมีการเคลื่อนที่ผ่าน

ทั้งนี้ แบบจำลองข้างต้นเป็นการใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเข้าถึงได้ในปัจจุบันสำหรับการทำนายทิศทางการเคลื่อนที่ของน้ำมันที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ทำให้แบบจำลองอาจมีความคลาดเคลื่อนได้อันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางธรรมชาติ ดังนั้น ควรมีการติดตามข่าวสารเรื่องการเคลื่อนที่ของน้ำมันอย่างใกล้ชิดผ่านข้อมูลจากหน่วยวิจัย Research Unit on Technology for Oil Spill and Contamination Management จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนี้

สามารถอ่านบทความวิชาการเพิ่มเติมได้ที่
https://www.eng.chula.ac.th/th/18227
https://www.eng.chula.ac.th/th/18178

พิธีรับมอบใบประกาศรับรองคุณภาพ ISO 13485 : 2016 สำหรับโครงการวิจัยเพื่อผลผลิต พัฒนาระบบหุ่นยนต์กายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับมอบใบประกาศรับรองคุณภาพ ISO 13485 : 2016 จากคุณฉัตวิทัย ตันตราภรณ์ ผู้จัดการทั่วไป TÜV SÜD Thailand สำหรับโครงการวิจัยเพื่อผลผลิต พัฒนาระบบหุ่นยนต์กายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต

โดยโครงการวิจัยเพื่อผลผลิต พัฒนาระบบหุ่นยนต์กายภาพบำบัดเพื่อการฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล, ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท แฮ็กซ์เตอร์ โรโบติกส์ จำกัด (Haxter Robotics Co.,Ltd.)

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ตำบลบ้านก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน ระหว่าง จังหวัดลำพูน กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะวิศวกรรมศาสตร์)

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดี และ จังหวัดลำพูน โดย นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายบุญส่ง ไชยมณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูนได้ร่วมลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาพื้นที่ตำบลบ้านก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน ระหว่าง จังหวัดลำพูน กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (คณะวิศวกรรมศาสตร์) เพื่อร่วมกันพัฒนาความเป็นอยู่ของครัวเรือน การบริหารจัดการน้ำและการจัดการไฟป่า เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และการทำเกษตรกรรมในพื้นที่บ้านก้อ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณที่มา : https://region3.prd.go.th/region3_ci/topic/news/44247

พิธีลงนามความร่วมมือโครงการบริหารจัดการขยะพลาสติก ขยะติดเชื้อ พลังงานทดแทน เพื่อสนับสนุนกองทัพเรือ และต่อยอดสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ ระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ บริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด (บอท.) โดย นาวาตรี ชัยรัช อามะเทศา กรรมการผู้จัดการ ณ ห้องรับรองพิเศษ ชั้น 1 กองทัพเรือ

โดยมีสาระสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนาระบบบริหารจัดการขยะพลาสติก ขยะติดเชื้อ เพื่อผลิตพลังงานทดแทนสำหรับสนับสนุนกองทัพเรือและพร้อมต่อยอดสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อไปด้วย

ทั้งนี้ พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ และประธาน บอท. และ รองศาตราจารย์ ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กรุณาให้เกียรติกล่าวอวยพรและให้กำลังใจกับทีมงานของทั้งสองฝ่าย

ขอขอบพระคุณทีมงานของฝ่ายจุฬาฯ และทางบอท. /กองทัพเรือที่ร่วมมือร่วมใจกันมาตั้งแต่ต้นและจะร่วมมือร่วมใจกันต่อไป อันได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย ชรินพาณิชยกุล รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ดร. สมประสงค์ ศรีชัย คุณสิทธิกร มโนมัยวิบูลย์ และทีมงานบริษัทท่าทราย พลเรือตรี ธานินทร์ ทิพย์โส เจ้ากรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และทีมงานของ บอท./กองทัพเรือ ทุกท่าน มา ณ ที่นี้

คณะวิศวฯ จัดงานแสดงมุทิตาจิตแด่บุคลากรที่เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2564

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแสดงมุทิตาจิตแด่บุคลากรที่เกษียณอายุราชการ ประจำปี 2564 จำนวน 16 ท่าน พร้อมทั้งได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “ศรีอินทาเนีย” เพื่อเป็นที่ระลึกและขอบคุณคณาจารย์ บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ เปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นระยะเวลานาน โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี เป็นประธานในพิธี

รายนามผู้เกษียณอายุราชการในปีงบประมาณ 2564 (เรียงตามอักษร)

  1. อาจารย์ ดร.เชิดพันธ์ วิทูราภรณ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล
  2. นางสาวซองทอง จรัสสิงห์ ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ
  3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม
  4. นางเตือนใจ เลี้ยงชีพ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
  5. นายถาวร สุวรรณกิจ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
  6. รองศาสตราจารย์ ดร.ทวงทัน กิจไพศาลสกุล ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ
  7. นายบัญชา อุนพานิช ภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์
  8. รองศาสตราจารย์ ดร.พรศิริ หมื่นไชยศรี ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
  9. นางเพ็ชร์รัตน์ ดีประเสริฐ ภารกิจบริหารระบบกายภาพ
  10. ศาสตราจารย์ ดร.มานะ ศรียุทธศักดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
  11. นายวิชัย ธรรมรงค์ ภารกิจบริหารระบบกายภาพ
  12. นายวุฒิชัย ชื่นจิตต์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ
  13. นางศิริรัตน์ นิสารัตนพร ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ
  14. รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย ประสิทธิ์จูตระกูล ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
  15. รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ สายสินธุ์ชัย ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม
  16. รองศาสตราจารย์ ดร.อิทธิ ตริสิริสัตยวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ

คณบดีคณะวิศวฯ เข้าร่วมโครงการ Climate Action Leaders Forum #รุ่น 1 เวทีรวมพลังสุดยอดผู้นำเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมโครงการ “Climate Action Leaders Forum #รุ่น 1” หรือ CAL Forum #1 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นเวทีที่รวมพลังสุดยอดผู้นำจากทุกภาคส่วนจำนวน 49 ท่าน เพื่อมุ่งสู่การร่วมมือกันขับเคลื่อนการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ จัดโดย สถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคีร่วมจัด

ซึ่งโครงการ CAL Forum #1 เป็นการสร้างเวทีระดับผู้นำ รูปแบบใหม่ ที่ได้รับเชิญมาเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์ การมีส่วนร่วมลดโลกร้อน มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการ Climate Action Leaders Forum #รุ่น 1 นี้มีกำหนดจัดขึ้นจำนวน 5 ครั้ง ระหว่าง เดือนธันวาคม 2564 ถึง เดือนมกราคม 2565 ณ สโมสรราชพฤกษ์ โครงการนอร์ธ ปาร์ค กรุงเทพฯ

กรมวิทย์ฯ ร่วมกับ จุฬาฯ ผลิตสารละลายไฟโบรอินไหมปราศจากเชื้อ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์เซลล์ต้นกำเนิดและเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ นำโดย นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดี (วิจัย) ได้ร่วมกันพัฒนากระบวนการผลิตสารละลายไฟโบรอินไหมปราศจากเชื้อจากรังไหมไทย ตามมาตรฐานสากล เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น สำหรับผลิตวัสดุและเครื่องมือทางการแพทย์ พร้อมรับมอบใบรับรองมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพกระบวนการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 : 2016 ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ศูนย์เซลล์ต้นกำเนิดและเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม เป็นหน่วยงานสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนางานด้านเซลล์ต้นกำเนิดครบวงจร เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยทางคลินิกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยมีอาคารปฏิบัติการเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cells laboratory)  ที่มีความพร้อมในการจัดเตรียมและเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดตามมาตรฐานสากล GMP และมีการนำเซลล์ไปศึกษาวิจัยทางคลินิกร่วมกับสถาบันอื่น ๆ จึงเป็นแม่แบบในการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ สำหรับความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต คุณลักษณะทางเคมีและทางกายภาพของสารละลายไฟโบรอินไหมไทย ภายใต้มาตรฐานระบบบริหารคุณภาพกระบวนการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 : 2016 เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมีคุณภาพที่เหมาะสม ปราศจากการปนเปื้อนและปลอดภัย ซึ่งผลจากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยปราศจากการปนเปื้อนสารเอนโดท็อกซินและเชื้อจุลชีพ ส่วนคุณลักษณะทางเคมีและทางกายภาพ พบว่า ได้โปรตีนบริสุทธิ์มากกว่า 99.9%

รองศาสตราจารย์ ดร.โศรดา กนกพานนท์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมนักวิจัยของหน่วยปฏิบัติการวิจัยวิศวกรรมชีววัสดุเพื่อการแพทย์และสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันพัฒนาการใช้ไฟโบรอินไหมไทยเพื่องานทางการแพทย์และสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี โดยใช้รังไหมไทยแท้ สายพันธุ์นางน้อยศรีสะเกษ 1 ที่ได้รับความร่วมมือในการผลิตและเลี้ยงไหมแบบควบคุม โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (นครราชสีมา) กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนำมาสกัดเป็นโปรตีนไฟโบรอินไหมบริสุทธิ์ 99.9% ที่สะอาดปลอดเชื้อและสารเอนโดท็อกซิน สามารถนำไปใช้ในการผลิตวัสดุทางการแพทย์ เภสัชกรรม และเครื่องสำอาง อาทิ อนุภาคกระดูกเทียม แผ่นไหมปิดแผลสมานเซลล์ผิวหนังให้แผลหายเร็ว ผิวหนังเทียม รวมถึงการพัฒนาระบบนำส่งยาที่สามารถควบคุมการปลดปล่อยของยาหรือสารออกฤทธิ์ในปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด จุดเด่นของผลิตภัณฑ์นี้ คือ เป็นโปรตีนธรรมชาติที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นมิตรต่อร่างกาย สามารถย่อยสลายได้ในร่างกาย มีความแข็งแรงคงตัวมากกว่าโปรตีนชนิดอื่น เช่น คอลลาเจน  เจลาติน เป็นต้น ที่สำคัญผลิตภัณฑ์นี้ถือว่าเป็นวัตถุดิบต้นน้ำ สำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์เกรดสูงที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และพัฒนาโดยทีมนักวิจัยไทย

“ปัจจุบันทีมนักวิจัยจาก 2 หน่วยงานมีความพร้อมในการต่อยอดงานวิจัย สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อนุภาคกระดูกเทียมแบบหลายหน้าที่ (multi-functional bone substitute) จากโปรตีนไหมไทยและแคลเซียมฟอสเฟต ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการด้านการผลิต รวมถึงการทดสอบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อเข้าสู่การรับรองและการศึกษาวิจัยทางคลินิกในลำดับต่อไป การผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าราคาแพงจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยในการเข้าถึง การรักษาพยาบาล ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชนไทยแล้วยังเป็นการยกระดับ และสร้างมูลค่าให้กับรังไหมไทยซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรของไทยสู่อุตสาหกรรมการแพทย์อีกด้วย” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย

คณาจารย์วิศวฯ รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับคณาจารย์วิศวฯ ที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดังนี้

  1. รางวัลผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2565 รางวัลระดับดีมาก
    ผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาเซลล์อิเล็กโตรไลซิสแบบออกไซด์ของแข็งชนิดตัวนำออกซิเจนไอออนและใช้โฟมของโลหะเป็นตัวรองรับเพื่อใช้ในการผลิตกรีนไฮโดรเจน จากไอน้ำ (Development on Metal-foam-Supported Oxygen-ion Conducting Solid Oxide Electrolysis Cell for Green Hydrogen Production from Steam)
    โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภัทรพร คิม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี
    (สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย)
  2. รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2565
    รางวัลประกาศเกียรติคุณ

    ผลงานเรื่อง “รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ” (Express Analysis Mobile Unit)
    โดย 1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรสหสาขาวิชาวิศวกรรมชีวเวช
    2. ดร.ศรัณย์ กีรติหัตถยากร
    3. นายแคน อำนวยพรรณ
    4. นายฉัตรชัย วิริยะไกรกุล
    5. นายวีระพงศ์ เอี๋ยวพานิช
    6. นายกวิน ธนโกเศศ
    7. นายแพทย์เอนก มุ่งอ้อมกลาง
    8. นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย
    (สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย)

ขอขอบคุณที่มา : ระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
https://nriis.go.th/NewsEventDetail.aspx?nid=9494

อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมีรับรางวัล TIChE Outstanding Professional Chemical Engineering Awards

สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (TIChE) ได้จัดพิธีมอบรางวัล TIChE Outstanding Professional Chemical Engineering Awards เพื่อยกย่องชูเกียรติแก่ผู้ทำคุณประโยชน์และมีผลงานดีเด่นในวิชาชีพวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์ ประจำปีพ.ศ. 2564 ในวันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 ถึง 15.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.)

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีแก่คณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี ดังนี้

  1. ศ. ดร.ปิยะสาร ประเสริฐธรรม ที่ได้รับรางวัล Exceptional Contributions to Chemical Engineering Field
  2. ศ. ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ ที่ได้รับรางวัล Chemical Engineering Innovation & Outstanding – Champion level
  3. ศ. ดร.ศราวุธ ริมดุสิต ที่ได้รับรางวัล Chemical Engineering Innovation & Outstanding – First runner-up level
  4. อ. ดร.เจิดศักดิ์ ไชยคุนา ที่ได้รับรางวัลด้าน Chemical Engineering Education ระดับ Excellence in Chemical Engineering Education
  5. รศ. ดร.สีรุ้ง ปรีชานนท์ ที่ได้รับรางวัลด้าน Chemical Engineering Education ระดับ Excellence in Chemical Engineering Education
  6. ผศ. ดร.ปารวี วาศน์อำนวย ที่ได้รับรางวัลด้าน Chemical Engineering Education ระดับ Rising Star in Chemical Engineering Education สำหรับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 40 ปี
  7. ผศ. ดร.พงศ์ธร เจริญศุภนิมิตร ที่ได้รับรางวัลด้าน Chemical Engineering Education ระดับ Rising Star in Chemical Engineering Education สำหรับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 40 ปี

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า