คณะวิศวฯ มอบตู้ UVC ให้กับสภากาชาดไทยสำหรับใช้ในโครงการคาราวาน อาสาร่วมใจสู้ภัยโควิด

วันที่ 23 เมษายน 2563 ณ สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รศ. ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และรศ. ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้มอบตู้อบ UVC ซึ่งพัฒนาโดย รศ. ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒนและทีมงาน ให้กับ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการ สภากาชาดไทย สำหรับใช้ในโครงการคาราวาน อาสาร่วมใจสู้ภัยโควิด โดยสภากาชาดไทย ร่วมกับมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งลอตแรกจะมอบให้กับโรงพยาบาลในจังหวัดภาคใต้

บทความ : จัดการ “ขยะ” อย่างไร? เมื่อต้องอยู่ (ติด) บ้าน ในสถานการณ์ COVID-19

ในภาวะวิกฤติ COVID-19 ที่พวกเราต้องอยู่ (ติด) บ้าน จนบ้านของพวกเรากลายเป็นหนึ่งในแหล่งกำเนิดขยะหลัก แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นไปพร้อมกับการลดเชื้อเพื่อช่วย ‘เรา’ และช่วย ‘โลก’ ไปด้วยกัน

บทความ : จัดการ “ขยะ” อย่างไร? เมื่อต้องอยู่ (ติด) บ้าน ในสถานการณ์ COVID-19

โดย ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program

ชนม์นิภา ว่องวีรวัฒนกุล

ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม คณะวิศวฯ จุฬาฯ , คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดาวน์โหลดบทความ

คณะวิศวฯ ร่วมกับหอพักนิสิต จุฬาฯ มอบตู้ความดันลบให้กับโรงพยาบาลมวกเหล็ก สำหรับใช้ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

วันที่ 16 เมษายน 2563 คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหอพักนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผศ. ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการพัฒนานิสิต และนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาฯ และ ผศ. ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะวิศวฯ ได้มอบตู้ความดันลบ (Negative Pressure Cabinet) จำนวน 1 ตู้ ให้กับพญ.ศิรดา ภูริวัฒนพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อนำไปใช้ในการแยกทำกิจกรรมกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

ตู้ความดันลบนี้ จัดทำโดย ผศ. ดร.สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล ตามการออกแบบของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนา ใช้งบประมาณจาก กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ ) จัดซื้อหุ่นยนต์ปิ่นโตและกระจก เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาล 73 แห่ง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนา ใช้งบประมาณจาก “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ ) จัดซื้อ “หุ่นยนต์ปิ่นโต” และ “กระจก – ระบบสื่อสารทางไกล” เพื่อพระราชทานแก่โรงพยาบาล 73 แห่ง ในต่างจังหวัด โดยหุ่นยนต์ทั้งสองชนิดนี้ เป็นนวัตกรรมและจัดสร้างโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วย ใช้งานง่ายและช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ

โดยในวันที่ 15 เมษายน 2563 เวลา 13.30 น. ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้รับมอบ “หุ่นยนต์ปิ่นโต” และ “กระจก – ระบบสื่อสารทางไกล” จากศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งมอบแก่โรงพยาบาลทั้ง 73 แห่ง ต่อไป

ขอขอบคุณที่มา : มูลนิธิชัยพัฒนา

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานหุ่นยนต์ช่วยรพ.น่าน – สันทราย

วันที่ 15 เมษายน 2563 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหุ่นยนต์ปิ่นโต (หุ่นยนต์ขนส่งควบคุมทางไกล) และ หุ่นยนต์กระจก (ระบบสื่อสารทางไกล) ไปช่วยบุคลากรการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ความสะดวกในช่วงสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 ณ โรงพยาบาลน่าน จังหวัดน่าน และโรงพยาบาลสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ทางโครงการ CU-RoboCovid ในความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ HiveGround Robotics และ Obodroid ได้ร่วมมือกันกับกองทัพอากาศ ดำเนินการนำหุ่นยนต์ทั้งสองชุดไปติดตั้งที่โรงพยาบาลตามพระราชประสงค์ โดยได้รับเกียรติจาก พล.อ.อ. มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ มาอำนวยการจัดส่ง

จุฬาฯ ลุยสู้โควิด ส่งกองทัพหุ่นยนต์เซฟหมอ “CU-RoboCOVID” กว่าร้อยตัว พร้อมช่วยหมอทั่วประเทศแล้ว

วันที่ 7 เมษายน 2563 สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งผลิตหุ่นยนต์ “CU-RoboCOVID” 103 ชุด มูลค่ากว่า 5 ล้านบาท นำทีมโดยเจ้า “PINTO” มอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศใช้สู้ภัย COVID-19 มุ่งลดความเสี่ยงติดเชื้อ แบ่งเบาภาระงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ให้แพทย์และพยาบาล

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ขณะนี้ บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนัก ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเตรียมจัดส่งหุ่นยนต์นักรบอัศวิน “PINTO” (ปิ่นโต) จำนวน 103 ตัว มาสนับสนุนภารกิจนี้

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า “PINTO คือ หุ่นยนต์ซีรี่ส์หนึ่งของ CU-RoboCovid โครงการพัฒนาหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์เพื่อส่งไปช่วยหมอสู้ภัย COVID-19 ช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อ แบ่งเบาภาระงาน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้บุคลากรทางการแพทย์ในยามนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และพันธมิตร จึงได้พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยเหลือแพทย์ 3 ชุดหลัก ได้แก่ หุ่นยนต์ส่งของ (Remote Control Delivery Robot)  หุ่นยนต์สื่อสารทางไกล  (Telepresence Robot) และ หุ่นยนต์เครื่องช่วยหายใจ (Ambu Bag)

สำหรับปิ่นโต (PINTO) ที่เราผลิตให้กับ สนจ. ในครั้งนี้ เป็นหุ่นยนต์ส่งอาหารและเวชภัณฑ์ระยะไกลที่ติดตั้งพร้อมด้วยระบบ Telepresence โดยทำหน้าที่ส่งอาหารและเวชภัณฑ์ไปยังห้องผู้ป่วย พร้อมมีระบบภาพสื่อสารทางไกลที่ใช้งานง่าย ช่วยลดความเสี่ยงโดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ และยังช่วยอำนวยความสะดวกให้บุคลการทางการแพทย์ทำงานได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ เรายังมีซีรี่ส์ “น้องกระจก” (Quarantine Telepresent) เป็นหุ่นยนต์แท็บเลต ที่นำไปไว้ที่ห้องผู้ป่วย จะทำหน้าที่สอดส่องดูแล และพูดคุยกับผู้ป่วยได้โดยที่ไม่ต้องกดรับสาย  นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังสามารถกดเรียกหาพยาบาลได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ ช่วยลดทั้งความเสี่ยงติดเชื้อและลดอัตราการใช้ชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ลง ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับหมอและพยาบาลได้เป็นอย่างดี

“หุ่นยนต์นินจา” เป็นซีรี่ส์ที่ช่วยสื่อสารทางไกลระหว่างหมอกับผู้ป่วย COVID-19 ผ่านระบบ Video Conference โดยที่ทั้งหมอ พยาบาล ยังสามารถพูดคุย โต้ตอบ สอบถามอาการกับผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine โดยไม่ต้องเข้าไปในหอผู้ป่วย และยังสามารถควบคุมและสั่งการการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากระยะไกล และที่มากไปกว่านั้น หุ่นยนต์นินจายังเชื่อมอุปกรณ์วัดและบันทึกสัญญาณชีพต่าง ๆ เช่น วัดความดัน วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดชีพจร วัดอุณหภูมิ และส่งข้อมูลไปให้หมอใช้ประกอบการวินิจฉัยอาการได้ทันทีอีกด้วย”

“สำหรับโครงการ CU-RoboCOVID เราได้รับความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้เรามั่นใจว่า ในอนาคตน่าจะช่วยให้จุฬาฯ ก้าวสู่การเป็นผู้สนับสนุนการสร้างบุคลากรตอบโจทย์ภัยคุกคามด้านสาธารณสุข ด้วยผลงานชั้นนำด้านนวัตกรรมทางวิศวกรรมการแพทย์ระดับโลกได้ต่อไป และต้องขอขอบคุณ บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด  และ บริษัท Obodroid ในฐานะผู้ผลิตที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ เป็นพันธมิตรที่ดีกับเรามาโดยตลอด” ดร.สุพจน์  เตชวรสินสกุล กล่าว

ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ (สนจ.) เปิดเผยว่า “สนจ. ทราบถึงความต้องการใช้หุ่นยนต์เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อให้หมอและพยาบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สู้ร่วมกันในภารกิจนี้ ตามมาตรการ Social Distancing จึงมีแนวคิดจัดหาหุ่นยนต์ช่วยเซฟหมอ จำนวน 103 ตัว ในโอกาสครบ 103 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลค่า 5,150,000 บาท โดยในเบื้องต้น ได้อนุมัติงบประมาณ 1 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมเร่งผลิตหุ่นยนต์ PINTO 20 ชุดแรกออกมาให้พร้อมใช้งานจริง และส่งมอบหุ่นยนต์ชุดแรกให้กับหลายโรงพยาบาลแล้ว อาทิ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2 ชุด รพ.ศิริราช 2 ชุด รพ.วชิระภูเก็ต 4 ชุด เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังมีโรงพยาบาลอีกหลายแห่งทั่วประเทศประสานเข้ามาขอรับการสนับสนุนอีกไม่ต่ำกว่า 50 โรง ดังนั้น สนจ. จึงได้จัดทำแคมเปญเร่งด่วน “หุ่นยนต์เซฟหมอ หมอเซฟเรา เราเซฟหมอ” เพื่อขอรับบริจาคจากภาคีเครือข่ายและผู้มีจิตศรัทธา  จนได้เงินมาจัดซื้อหุ่นยนต์ PINTO จนครบ 103 ตัว และจะเร่งส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่ร้องขอมาได้ในเดือนเมษายนนี้ เป็นกองหนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ต่อสู้กับ COVID-19 เพื่อคนไทยต่อไป เราคาดว่าจะยังมีความต้องการใช้หุ่นยนต์สนับสนุนการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อจากโรงพยาบาลอีกมาก จึงอยากชวนนิสิตเก่าและผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันบริจาคสมทบทุนกันเข้ามาเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในยามนี้ด้วยกันกับเรา โดยบริจาคผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสยามสแควร์ ชื่อบัญชี สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-เงินรองจ่าย เลขที่บัญชี 038-202810-6 และโอนสลิปหรือแจ้งทางสนจ. เพื่อขอรับใบเสร็จรับเงินให้ท่านต่อไป

ประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ขยายเวลาการปิดที่ทำการเป็นการชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19

ตามที่มหาวิทยาลัยได้มีประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การปิดที่ทำการเป็นการชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ นั้น

เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ประกอบกับกรุงเทพมหานครได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ ๔) ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้สถานที่ศึกษาทุกระดับ ปิดทำการจนถึงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓

ฉะนั้น มหาวิทยาลัยจึงให้ขยายเวลาการปิดที่ทำการที่ตั้งในเขตกรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ และขอให้บุคลากรปฏิบัติตามประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การปิดที่ทำการเป็นการชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

 

ประกาศ ณ วันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

 

(ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์)

อธิการบดี

 

https://www.chula.ac.th/news/28851/

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับ Mi Workspace, HG Robotics และ Obodroid จัดตั้งโครงการหุ่นยนต์และอุปกรณ์​สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์​โรคระบาด COVID-19​ (CU-RoboCovid) เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ Mi Workspace, HG Robotics และ Obodroid

จัดตั้งโครงการ หุ่นยนต์และอุปกรณ์​สนับสนุนการแพทย์ในสถานการณ์​โรคระบาด COVID-19​ (CU-RoboCovid) เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งด้านการลดความเสี่ยงติดเชื้อ การเบาภาระการปฏิบัติงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแพทย์

ซึ่งตอนนี้ได้พัฒนาหุ่นยนต์เพื่อทำความช่วยเหลือ 3 ชุดหลักๆ ได้แก่หุ่นยน์ส่งของ (Delivery Robot), หุ่นยนต์สื่อสารทางไกล (Telepresent Robot) และ หุ่นยนต์เครื่องช่วยหายใจ

ทั้งนี้จะมีการอัพเดทถึงความคืบหน้าของโครงการ และขอให้ผู้สนใจช่วยเหลือด้านต่างๆ สามารถติดต่อมาในช่องทาง

LINE: @curobocovid
หรือในช่องทาง Inbox ของเพจ m.me/110676287241842
FB: CU-RoboCovid

ขอความร่วมมืออาจารย์ผู้สอนคณะวิศวกรรมศาสตร์ โปรดให้ข้อมูลแนวทางการปรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และการจัดสอบในรายวิชาของท่าน รวมทั้งกรณีที่รายวิชาประสงค์จะให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ช่วยเหลือในการปรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์

ขอความร่วมมืออาจารย์ผู้สอนคณะวิศวกรรมศาสตร์ โปรดให้ข้อมูลแนวทางการปรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์ และการจัดสอบในรายวิชาของท่าน รวมทั้งกรณีที่รายวิชาประสงค์จะให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ช่วยเหลือในการปรับการเรียนการสอนแบบออนไลน์

ผ่านทาง https://forms.gle/VLGVspmpLCqoBw176

ตามประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง แนวทางจัดการเรียนการสอนในกรณีสถานการณ์ไม่ปกติ
อันเนื่องมาจากสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19

ประสานงานสอบถามเพิ่มเติม: ฝ่ายวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร. 02-218-6330

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า