อาจารย์และนิสิตวิศวฯ รับรางวัลเหรียญทองและรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวดรางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ขอแสดงความยินดีกับนายณัทกร เกษมสำราญ นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์ พุ่มรินทร์ อาจารย์ที่ปรึกษา ในโอกาสได้รับรางวัลรางวัลเหรียญทอง (gold prize) และ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (2nd runner up) พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท จากการประกวดรางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ระดับอุดมศึกษา กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ ระบบเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองผลฝังตัว ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

จากผลงาน “จุฬาแฮพไอโอที (CU-HAPiot) ชุดสมาร์ทแพลตฟอร์มไอโอทีสำหรับการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ (CU-HAPiot : Chulalongkorn High Agriculture Platform with IoT)” ซึ่งเป็นระบบสมองกลฝังตัวที่มีขีดความสามารถในการตรวจวัดปริมาณทางสภาวะแวดล้อมของฟาร์ม ส่งข้อมูลจากตัวตรวจจับ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น EC pH ความเข้มแสง ระดับ UVA UVB ความสูงระดับน้ำทะเล และอื่น ๆ ผ่าน UDP Protocol ด้วยเทคโนโลยี Narrowband IoT 900MHz (NB-IoT) เข้าสู่ Node-Red platform & Linux cloud server ที่มีระบบจัดเก็บลงฐานข้อมูลนำไปสู่การหาค่าเหมาะที่สุด (optimization) ให้การเพาะปลูกในระบบไฮโดรโปรนิกส์มีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมต้นแบบระบบการปลูกพืชโดยใช้แสงเทียม (Plant Factory with Artificial Light : PFAL) สำหรับเร่งการเจริญเติบโตของผักและการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue culture) เพื่อการส่งเสริมการทำเกษตรแบบอัจฉริยะ (Smart Farm)

ขอเชิญชวนนิสิตและผู้สนใจเข้าร่วมงานกิจกรรม Open House หลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering) แนะนำแนวทางการศึกษาต่อ ทุนการศึกษา และการเปิดรับสมัคร

ขอเชิญชวนนิสิตและผู้สนใจเข้าร่วมงานกิจกรรม Open House หลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช (Biomedical Engineering) แนะนำแนวทางการศึกษาต่อ ทุนการศึกษา และการเปิดรับสมัคร

ในวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. และวันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562
ตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ โถงชั้น 1 อาคารวิศวฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่หลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช โทร. 0-2218-6793 ต่อ 13 หรือ ภารกิจบูรณาการการศึกษา ฝ่ายวิชาการ โทร. 0-2218-6330

ภาพบรรยากาศวันแรกของโครงการ วิศวฯ จุฬาฯ ยืนที่ 1 ไม่ใช้เงินสด (100% Cashless Society)

ภาพบรรยากาศวันแรกของโครงการ วิศวฯ จุฬาฯ ยืนที่ 1 ไม่ใช้เงินสด (100% Cashless Society)
ง่าย ๆ ด้วยการใช้ QR payment ซื้ออาหารและเครื่องดื่มในโรงอาหาร i-Canteen คณะวิศวฯ จุฬาฯ

 

 

ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมฟังการแนะแนวการศึกษาต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนและ Tsinghua University

ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมฟังการแนะแนวการศึกษาต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนและ Tsinghua University

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 14.00-15.30 น.
ณ ห้อง 209 ชั้น 2 ตึก 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยคุณภวิสร ชื่นชุ่ม
นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิงหวา

รายละเอียดการแนะแนว
1) ทำไมเราจึงเปลี่ยนความคิดไปเรียนที่สาธารณรัฐประชาชนจี
2) ทุนการศึกษาเพื่อไปเรียนที่จีนมีอะไรบ้าง และจะสมัครได้อย่างไร
a. ทุนรัฐบาลจีน
b. ทุนเมืองและทุนมณฑล
c. ทุนขงจื้อ
d. ทุนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
3) แล้วทำไมต้องเลือกเรียนที่ Tsinghua University
4) ตอบข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับจีน

ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม PM2.5 Sensor for all

ขอเชิญผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม PM2.5 Sensor for all
กิจกรรม Workshop ที่จะมาร่วมสร้าง PM2.5 Sensor เพื่อหน่วยงานและตัวท่านเอง พร้อมรับฟังการบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม

ในวันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 08.00-16.30 น.
ณ ห้อง MI makerspace ชั้น M อาคารวิศวฯ จุฬาฯ 100 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร:
061 813 8484 (คุณณัชชา) / 085 349 2888 (คุณชญานี)
…………………………………………………………………………….
เงื่อนไขเข้าร่วมกิจกรรม
1. มีทีมพร้อมสำหรับประกอบ/ สร้าง Sensor กับเรา ( 3 ท่าน/ทีม)
2. มีสถานที่และพร้อมรับ/ นำ Sensor ไปติดตั้งอย่างถูกวิธี
(โดยมีผู้เชี่ยญชาญจากทางคณะวิศวฯ จุฬาฯ ให้คำแนะนำ)
3. เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามผลตลอดระยะเวลาโครงการ

คลิกสมัครเข้าร่วมกิจกรรม

 

กำหนดการ

08.00 – 08.45 น.          ลงทะเบียน

08.45 – 09.00 น.          กล่าวเปิดกิจกรรม โดย รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี

09.00 – 10.00 น.          บรรยาย เรื่อง “ความรู้ทั่วไปและสถานการณ์ปัจจุบันของฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” โดย

  • รศ. ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล  ผู้เชี่ยวชาญด้านฝุ่นละออง ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
  • ดร.วิน ไตรวิทยานุรักษ์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมทางหลวง

10.00 – 12.00 น.            อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “หลักการทำงานของเครื่องตรวจวัดอนุภาคฝุ่นละอองและองค์ประกอบของเซ็นเซอร์วัดอนุภาคฝุ่นละออง วิธีการรวบรวมและรายงานผลการตรวจวัด” โดย

  • ผศ. ดร.สุกรี สินธุภิญโญ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
  • คุณอนนต์เดช กิจศิรานุวัตร  วิศวกร บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)
  • คุณพิศิษฐ์ โรจน์ทองคำ Senior engineer, Field Application บริษัท เอสทีไมโครอีเล็คโทรนิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด

12.00 – 13.00 น.            พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.00 – 14.30 น.            ภาคปฏิบัติ “การประกอบเซ็นเซอร์วัดฝุ่นละอองกับแผงวงจรไฟฟ้า” โดย

  • อ.ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

14.30 – 16.00 น.            ภาคปฏิบัติ “เปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างเครื่องตรวจวัดอนุภาคฝุ่นละอองที่ประดิษฐ์ขึ้นและเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่มีขายตามท้องตลาด โดย

  • รศ. ดร.พิสุทธ์ เพียรมนกุล รองคณบดี ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
  • คุณกริชชาติ ว่องไวลิขิต นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

16.00 – 16.30 น.            สรุปกิจกรรม/ซักถามข้อสงสัย

สำนักงาน กสทช. –จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ภายในจุฬาฯ หนุนนโยบายรัฐบาลสู่การเปลี่ยนผ่านใช้งานเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงานกสทช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ 5G AI / IoT Innovation Center เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G ที่มีการติดตั้งและดูแลอุปกรณ์สถานีฐานของโครงข่าย 5G เตรียมความพร้อมและรองรับการให้บริการโทรคมนาคม

พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ 5G AI / IoT Innovation Center นี้ เป็นสิ่งยืนยันความมุ่งมั่นในการสนับสนุนกันและกันหลายภาคส่วน ทั้งในภาคการศึกษาที่มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลาง เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น สามารถสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ และพัฒนาเทคโนโลยี 5G ให้สามารถเกิดขึ้นจริงในปี 2563 และสามารถกระตุ้นให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันและร่วมมือไปพร้อมกับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า หลังจากสำนักงาน กสทช. ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 2 ปี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ขณะนี้ สำนักงาน กสทช. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ 5G AI/IoT Innovation Center เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G ที่มีการติดตั้งและดูแลอุปกรณ์สถานีฐานของโครงข่าย 5G โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และ ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการอบรมให้ความรู้หรือศูนย์สาธิตการดูงานด้าน 5G AI / IoT ในระดับนานาชาติ ตามแนวนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผลักดันประเทศไทยเข้าสู่เทคโนโลยี 5G

เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในระยะแรกจะมีการตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการติดตั้งสถานีฐาน ณ อาคารวิศวฯ 100 ปี เพื่อรองรับการให้บริการครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยใช้ความถี่ย่าน 26.5 – 27.5 GHz รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ 5G AI / IoT Innovation Center ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งในระยะถัดไปจะมีการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายศูนย์กลาง ที่ชั้น 9 อาคารวิศวฯ 100 ปี โดยติดตั้งสถานีฐานในระยะที่ 2 จะให้ครอบคลุมพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทั้งหมด โดยที่สำนักงาน กสทช. จะอำนวยความสะดวกในการนำเข้าอุปกรณ์และการอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับทดลองทดสอบ

ทั้งนี้ ตัวอย่างการทดลองทดสอบผ่านการใช้เทคโนโลยี 5G ได้แก่ การพัฒนาการขนส่งด้วยระบบ 5G อาทิ การพัฒนาต้นแบบรถยนต์ขับเคลื่อนได้เองอัตโนมัติ (Autonomous Car – CU TOYOTA Ha:mo) ติดตั้งกล้องไร้สายภายในและภายนอกรถบัส ติดตั้งเซนเซอร์วัดสภาพแวดล้อม (Smart CU – PoP Bus) เป็นต้น Smart Hospital and Telehealth และการทดสอบระบบการใช้งานเสาอัจฉริยะยุคหน้า (Smart Pole)

“ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมการให้บริการโทรคมนาคม เพื่อเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็งและรองรับการเปลี่ยนแปลงในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เทคโนโลยี 5G ในอนาคต ผมเชื่อว่าเทคโนโลยี 5G จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การรักษาพยาบาลทางไกล หรือ Telehealth ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนได้” นายฐากร กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และองค์ความรู้ในการกำกับดูแลและนโยบายส่งเสริมให้เกิดบริการ 5G ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้แก่ประเทศ โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะถือเป็นต้นแบบของเมืองแห่งอนาคตที่พร้อมไปด้วยเทคโนโลยีและคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาคมจุฬาฯ ผลจากการทดสอบทดลอง และการวิจัยและพัฒนาในโครงการนี้จะสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ตอบสนองนโยบาย Digital Transformation ของประเทศต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมคณาจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายในการวางแผนพัฒนาโครงข่ายและรูปแบบบริการต่าง ๆ พร้อมแล้ว นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมมือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ บริษัทสตาร์ทอัพและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศน์ของการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการ 5G ของประเทศ

คณะวิศวฯ จุฬาฯ ร่วมกับกลุ่มทรู จัดตั้ง TrueLab@ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี ร่วมกับ กลุ่มทรู โดย นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ประกาศความร่วมมือจัดตั้ง TrueLab@ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรพัฒนานวัตกรรม 5G แห่งอนาคตให้เป็นพื้นที่ในการคิดค้น (Innovative Idea) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกอบรมและถ่ายทอดประสบการณ์ต่าง ๆ ในรูปแบบของ Open Innovation โดยจะเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา หน่วยงาน และองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ที่สนใจเข้าใช้งานได้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ของประเทศ และเอื้อประโยชน์ต่อภาคการศึกษาให้ได้เรียนรู้ และสร้างนวัตกร อีกทั้งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ ซึ่งความร่วมมือกับกลุ่มทรูครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญที่ภาคการศึกษาไทยจะได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงการเปิดพื้นที่แห่งการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นที่ TrueLab @ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center ตลอดจนการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคณาจารย์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนิสิตนักศึกษาให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง สามารถทดสอบและทดลองโซลูชั่นหรือ Use Case ต่าง ๆ ด้วยตัวเอง รวมทั้งจะเป็นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอีกด้วย โดยมี นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ร่วมเป็นเกียรติในงาน

“TrueLab@ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center” จะตั้งอยู่ที่อาคาร 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพื้นที่กว่า 600 ตร.ม. โดยสร้างให้เป็นพื้นที่ศูนย์กลางเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G ที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การขนส่ง ความปลอดภัย รวมถึงการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตลอดจนเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงาน Use case/Showcase ที่เกิดจากความร่วมมือของจุฬาฯ และกลุ่มทรู นอกจากนี้ TrueLab@ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center” ยังเป็นพื้นที่ในการคิดค้น (Innovative Idea) แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ฝึกอบรม และถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ในรูปแบบของ Open Innovation ซึ่งกลุ่มทรูจะสนับสนุนทั้งทางด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือ และความเชี่ยวชาญของบุคลากร รวมทั้งการสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นักวิจัย และนักศึกษาอีกด้วย

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่มทรู ร่วมผลักดันนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยในยุค Thailand 4.0 อย่างเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาเราเป็นผู้นำในการทดสอบการใช้งาน 5G อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดงาน “True 5G Digital Thailand, The 1st Showcase powered by TrueMove H” ให้คนไทยสัมผัสประสบการณ์ 5G บนสภาพแวดล้อมจริงอย่างเต็มรูปแบบ ล่าสุดกลุ่มทรูได้ผนึกกำลังครั้งสำคัญกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตามแนวทางของกสทช. ที่มุ่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ได้ประกาศให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสนามทดสอบ 5G เพื่อพัฒนาให้เกิดองค์ความรู้ของประเทศเกี่ยวกับ 5G โดยกลุ่มทรูได้ลงทุนสร้างศูนย์การทดลองและวิจัย 5G ที่ครบวงจรเป็นแห่งแรกในไทย ซึ่งเราตั้งใจให้ “TrueLab@Chula Engineering: 5G & Innovative Solution Center” เป็นพื้นที่หลักในการทดสอบและวิจัยเทคโนโลยี 5G ตลอดจนพัฒนาและสร้างสรรค์รูปแบบการใช้งานต่าง ๆ (Use Case) โดยจะเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา หน่วยงาน และองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่สนใจเข้าใช้งานได้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ของประเทศ และเอื้อประโยชน์ต่อภาคการศึกษาให้ได้เรียนรู้ และสร้างนวัตกร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ”

รศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ทางจุฬาฯ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมและ เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ 5G ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ทางคณะฯ จึงได้เตรียมความพร้อมทั้งในด้านของบุคลากรและการสร้างงานวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวช้องกับการให้บริการ 5G เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงและทั่วถึง ซึ่งความร่วมมือกับกลุ่มทรูครั้งนี้ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญที่ภาคการศึกษาไทยจะได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งรวมถึงการเปิดพื้นที่แห่งการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นที่ TrueLab @ChulaEngineering: 5G & Innovative Solution Center ตลอดจนการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคณาจารย์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนิสิตนักศึกษาให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง สามารถทดสอบและทดลองโซลูชั่นหรือ Use Case ต่างๆ ด้วยตัวเอง รวมทั้งจะเป็นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอีกด้วย

น.พ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า “ภารกิจของกสทช. ในการผลักดันประเทศไทยให้มีความพร้อมก้าวเข้าสู่ยุค 5G เทียบเท่ากับสากลนั้น เป็นภารกิจที่ใหญ่และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้การสนับสนุน ทั้งการจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ และการสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์จากการใช้ 5G ซึ่งจะเข้าไปมีบทบาทและมีบริการที่เกี่ยวกับหลากหลายภาคส่วน อาทิ อุปกรณ์เชื่อมต่อ Internet of Things (IoT) ระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล Big Data ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System: ITS) ระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) เป็นต้น ซึ่งกสทช. เชื่อว่าว่าการลงทุนจัดตั้ง True Lab นี้จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี 5G ของประเทศไทยมีความรุดหน้าอย่างรวดเร็วและนำพาให้ไทยเข้าสู่ 5G ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้คือภายในปี 2563 นี้ โดยกสทช.มีความตั้งใจที่จะช่วยผลักดันเอกชนให้เกิดบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และที่สำคัญคนไทยได้ทำความรู้จักกับเทคโนโลยี 5G ได้รับประโยชน์จากการประยุกต์ใช้งานต่าง ๆ อย่างทั่วถึง”

เปิดรับสมัครอาจารย์ นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา และนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 และ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เรียนภาษาจีน ฟรี!!

เปิดรับสมัครอาจารย์ นิสิตระดับบัณฑิตศึกษา และนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 และ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
เรียนภาษาจีน ฟรี!!

รับจำนวนกำจัด สำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานด้านภาษาจีนมาก่อนเท่านั้น
หมดเขตรับสมัคร วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562

วันที่เริ่มเรียน: 18 กุมภาพันธ์ 2562 ถึง วันที่ 2 เมษายน 2562
สถานที่เรียน: คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รายละเอียดจะแจ้งให้ทราบภายหลัง)

ห้องเรียนสำหรับอาจารย์ เวลา 17:00น.-19:00น. ทุกวันจันทร์และวันพุธ (จำนวน 20 ที่นั่ง)
ห้องเรียนสำหรับนิสิต ห้อง A เวลา 17:00น.-19:00น. ทุกวันจันทร์และวันพุธ (จำนวน 20 ที่นั่ง)
ห้องเรียนสำหรับนิสิต ห้อง B เวลา 17:00น.-19:00น. ทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี (จำนวน 20 ที่นั่ง)

สมัครทางออนไลน์ที่ https://goo.gl/forms/CFN9VIz75Dqsjfjv2
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ภารกิจสื่อสารองค์กร โทร. 0 2218 6337

คอลัมน์รู้ลึกกับจุฬาฯ เรื่อง ปรับเปลี่ยนการคมนาคม แก้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5

คอลัมน์รู้ลึกกับจุฬาฯ เรื่อง ปรับเปลี่ยนการคมนาคม แก้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5

โดย รศ. ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวฯ จุฬาฯ

สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5 ในกรุงเทพมหานครและเขตเมืองใหญ่ของประเทศไทยในขณะนี้สร้างความตื่นกลัวเรื่องอันตรายและความตื่นตัวเกี่ยวกับวิธีการรับมือป้องกันภัย ไม่ว่าจะเป็นการหาซื้อหน้ากากและผ้าปิดหน้าจนขาดตลาด ไปจนถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการจัดการปัญหาอย่างเร่งด่วน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้จัดเวทีแสดงทัศนะโดยคณาจารย์และนักวิชาการในหัวข้อ “จุฬาฯ ฝ่าวิกฤติรับมือฝุ่น PM 2.5” เพื่อไขข้องใจในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยระบุปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 ขึ้นในขณะนี้ว่ามาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากสภาพอากาศในช่วงเปลี่ยนฤดู ไม่มีลมพัด ฝุ่นจึงไม่ระบายออกเหมือนในช่วงเวลาอื่นๆ รวมถึงการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างที่ก่อให้เกิดฝุ่นคลุ้ง แต่ต้นตอหลักของปัญหามาจากการคมนาคมและการขนส่ง

รศ. ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันขนส่ง จุฬาฯ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า จากข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่าสาเหตุหลักของฝุ่นใน กทม. มาจากการจราจรในเมือง โดยฝุ่นจะเกิดจากการเผาผลาญไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์รถ พบมากสุดในเครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถยนต์เก่าที่ขาดการบำรุงรักษาและปล่อยควันดำ

“การบำรุงรักษาเครื่องให้อยู่ในสภาพดี ติดตั้งตัวกรองท่อไอเสียช่วยลดมลพิษได้ เพราะนอกจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ยังมีพวกแก๊สอื่นๆ ที่รถยนต์ควันดำปล่อย ดังนั้นผมจึงอยากให้ไปดูดัชนีคุณภาพอากาศด้วยว่ามีระดับความรุนแรงแค่ไหน มากกว่าจะห่วงเฉพาะฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เพียงอย่างเดียว”

อาจารย์มาโนชมีข้อเสนอแนะว่า การแก้ปัญหาในระยะสั้น คือการลดการเดินทางของคนในเมืองและการขนส่งสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่น ลดการใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลในช่วงอากาศวิกฤติ หรือ เปลี่ยนมาเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาที่เร่งด่วนในระยะถัดมา คือความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รวมทั้งการปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์เพื่อสาธารณะอย่างเป็นระบบ

“การสร้างระบบขนส่งที่เป็นระบบแก้ปัญหาได้ถึง 2 อย่าง ทั้งเรื่องการลดมลพิษและการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด แต่ทุกวันนี้ปัญหาขนส่งสาธารณะที่เห็นได้ชัดคือรถเมล์ไทยเก่ามากและปล่อยควันดำเยอะมาก แต่แทบไม่ได้รับความสนใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เมื่อเทียบกับกรณีปัญหาของแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ และรถตู้”

อาจารย์มาโนชชี้ว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนหลากหลายรูปแบบในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกจากบ้านจนถึงก้าวสุดท้ายที่จุดหมายปลายทาง โดยเฉพาะการพัฒนารถโดยสารประจำทางซึ่งเป็นระบบขนส่งที่เป็นกลไกหลักในการเชื่อมผู้โดยสารจากบ้าน สู่ระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่น ๆ

“แต่ปัญหาคือรถเมล์ไทยไม่น่าใช้ คนเลยไปขับรถยนต์แทน รถ ขสมก.เก่ามาก มีปัญหาจัดซื้อจัดจ้าง ติดกฎระเบียบทำให้เดินต่อไม่ได้ ส่วนรถร่วมก็ถูกรัฐควบคุมราคาค่าขนส่ง ไม่ยอมให้ขึ้นค่าโดยสารขณะที่ต้นทุนสูงขึ้นเรื่อยๆ เลยไม่มีเงินมาปรับปรุงรถ รถก็เน้นวิ่งเร็วเพื่อทำรอบหาลูกค้า เห็นแบบนี้คนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากใช้”

อาจารย์มาโนชชี้ว่าขณะนี้ปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5 ยังเป็นสถานการณ์ที่รอการคลี่คลาย เช่น รออากาศเปิด มีลมพัดฝุ่นออก หรือมีฝนช่วยลดปริมาณฝุ่นในอากาศ แต่ถ้าหากรัฐบาลและประชาชนไม่ลุกขึ้นมาร่วมแก้ไขปัญหาในระยะยาว ปัญหานี้ก็จะกลับมาปรากฏเช่นเดิมเรื่อยๆ ในช่วงเวลาเดิมของทุกปี

การแก้ปัญหาระยะยาว จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมของคนในสังคม ต้องตระหนักว่าปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาของทุกคน ต้องปรับพฤติกรรมใหม่ เช่น การส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้เดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ หรือใช้รถจักรยาน การเดินเท้า ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาเมืองให้เอื้อต่อการเดินบนทางเท้าที่ดีกว่านี้

นอกจากนี้ ยังต้องยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และเชื้อเพลิง เช่น การส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็มีการนำนวัตกรรมอย่างรถยนต์ไฟฟ้าหลายรูปแบบมาใช้สัญจรในมหาวิทยาลัยแล้ว เพื่อเป็นแนวทางการเดินทางที่ประหยัดพลังงานและไม่สร้างมลภาะแก่สิ่งแวดล้อม

“มองในเชิงสิ่งแวดล้อม รถไฟฟ้าสร้างมลพิษน้อยกว่ารถสันดาปหรือรถยนต์ทั่วไปอยู่แล้ว แต่ก็พูดยากเพราะไทยเองก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของรถสันดาป เรามีรถยนต์สันดาปเยอะ เรื่องนี้เลยต้องชั่งน้ำหนัก แต่การเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดการปล่อยฝุ่นควันบนท้องถนน”

ที่มา : คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/news/scoop/359619?fbclid=IwAR3EENTxFzB1uk5WMlESqnEQAT3cRHsMdx5KLsQ8IIGpxn_BqatNYYK3kYc#.XE_-DP0nTAY.facebook

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า