วิศวฯ จุฬาฯ จับมือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชนชั้นนำระดับชาติลงนามปฏิญญาความร่วมมือการร่วมผลิตคนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ภายใต้ข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher education sandbox)

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุม 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับผู้แทนภาคเอกชน นำโดยคุณวชิรา อารมย์ดี รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย คุณกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณวรรณา ดุลยาสิทธิพร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษา หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คุณกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย  คุณอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และคุณศักดิ์ชัย ยอดวานิช นายกสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามในปฏิญญาความร่วมมือการร่วมผลิตกำลังคนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชน  เพื่อให้การผลิตกำลังคนตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงาน โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานและสักขีพยานในการร่วมลงนามปฏิญญาความร่วมมือฯ และมอบนโยบายเกี่ยวกับนโยบายด้านการพัฒนากำลังคนและการสร้างความเป็นเลิศ ที่มุ่งสร้างกำลังคนที่มีสมรรถะสูงให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการอย่างเร่งด่วน และต้องมีคุณภาพ

​ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับตัวการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ทันกับบริบทโลกที่เปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าที่รวดเร็วของเทคโนโลยีและความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงการจัดการหลักสูตรที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการบูรณาการมากขึ้น ให้ผู้เรียนสามารถได้เรียนรู้พื้นฐานและเรียนรู้ต่อยอดได้ตลอดเวลา ซึ่งภายใต้นโยบายการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ sandbox นี้ ทำให้เห็นโอกาสของความต้องการบุคลากรด้านอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความขาดแคลนอย่างมากในตลาดแรงงาน โดยการจัดการศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (Bachelor of Engineering in Computer Engineering and Digital Technology) ที่แตกต่างไปจากการเรียนตามหลักสูตรทั่วไปนี้ถือเป็นครั้งแรกในการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาภายใต้ Sandbox ที่คณะฯ มองตนเองว่าเป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่ต้องปรับตัวให้เกิดความแตกต่าง และตอบโจทย์ของโลกยุคใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ให้มีทักษะที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และมีความสามารถในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้จริง  รวมจำนวนตลอดระยะเวลาโครงการ ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ต้องการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงตามความต้องการของประเทศ

หลักสูตรวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Computer Engineering & Digital Technology เป็นหลักสูตรปริญญาตรี 3 ปีครึ่ง ที่มุ่งสร้างผลสัมฤทธิ์ทั้ง hard skills และ soft skills ในตัวบัณฑิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยคณาจารย์คุณภาพสูง เทคโนโลยีทางการศึกษา และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งตลอดหลักสูตร ผ่านวงรอบของการเรียนและการทำงานจริงในสถานประกอบการที่มีความต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญ โดยเริ่มจากโครงงาน การร่วมสอน และการฝึกงาน ส่งผลให้สามารถผลิตบุคลากรทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทย ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมได้เป็นจำนวนมาก โดยตั้งเป้าไว้ว่าหลักสูตรนี้จะเปิดรับนิสิต 300 ที่นั่งต่อปี และเริ่มรับนิสิตรุ่นแรกในปีการศึกษา 2566 นี้ ผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย TCAS รอบที่ 1-3

​คุณกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย  ผู้แทนภาคเอกชน กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันองค์กรภาคเอกชนกำลังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญการเพิ่มศักยภาพบุคลากรและความสามารถในการแข่งขัน การลงนามปฏิญญาความร่วมมือการร่วมผลิตคนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาในวันนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนไทยได้ร่วมกันสร้างแรงงานด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และดิจิทัล เพื่อสนองตอบและที่ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง และยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงที่ตรงตามความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และยังได้ผลักดันให้เกิดแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาปัจจุบัน ผ่านการจัดการศึกษาหลักสูตร Sandbox

​ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถวิทย์ สุดแสง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เล่าถึงที่มาว่า ในยุคก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ต้องการกำลังคนที่มีความรู้ในหลากหลายด้าน ทั้งด้านระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ปัญญาประดิษฐ์ เครือข่ายคลาวด์คอมพิวเตอร์และความปลอดภัยในเครือข่าย หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล มีความสำคัญอย่างยิ่ง รองรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลสมัยใหม่ และสามารถผสมผสานกัน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ให้กับสถานประกอบการ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จึงได้เปิดหลักสูตรนี้ขึ้นมาตามนโยบายของกระทรวง อว. และเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงจำนวนมากได้ตามความต้องการของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษา จัดการเรียนการสอนด้วยคณาจารย์คุณภาพสูง และความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมชั้นนำ  ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบ วิเคราะห์ และสร้างโปรแกรมประยุกต์ของระบบซอฟต์แวร์ ระบบเชิงเลข และการประมวลผลสารสนเทศ และสามารถประยุกต์หลักการทางวิศวกรรมเพื่อการแก้ปัญหาในสาขาอาชีพอื่นด้วยคอมพิวเตอร์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หลักสูตรนี้ยังสามารถทำให้นิสิตมีทักษะในทุกช่วงชั้นปี ตั้งแต่ปีที่ 1 สามารถเข้าสู่กระบวนการทำงานกับองค์กรภาคเอกชนที่มีความร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรูปแบบการฝึกงานและสหกิจศึกษา ซึ่งเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้แก่องค์กรคู่สัญญา และเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่นิสิตจากประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน ณ สถานที่จริงและสถานการณ์จริงด้วย

หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลต่างจากหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ปกติ ที่จะเน้นที่การฝึกงานและทำงานจริง โดยจะมีการฝึกงานทุกภาคฤดูร้อนและ ปี 4 เทอม 1 มีการปรับปรุงวิชาพื้นฐานให้เน้นเฉพาะเนื้อหาที่จำเป็น และเพิ่มวิชาทางเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรม เช่น Data Science, AI, Cloud, IoT, Agile Software Development และวิชาเลือกที่สอนโดยบริษัทภาคเอกชนชั้นนำ คาดว่าจะเปิดรับสมัครนิสิตใหม่ในปีการศึกษา 2566 ผ่านระบบ TCAS ได้ โดยมีการจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทยและค่าใช้จ่ายเหมือนหลักสูตรภาษาไทยภาคปกติ และดำเนินการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีการศึกษาที่มีการผสมผสานการเรียนแบบออนไลน์และออนไซต์เข้าด้วยกัน  โดยมีเป้าหมายด้านสัมฤทธิผลในการพัฒนาทักษะของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ

​ทั้งนี้ สำหรับปีการศึกษา 2566 นี้ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเปิดรับสมัครนิสิตระดับปริญญาตรีทั้งสองหลักสูตร คือ หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของเดิม และหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัลนี้พร้อมกัน เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ขาดแคลนอย่างมาก

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์: https://www.cp.eng.chula.ac.th/cedt
facebook: facebook.com/cedtengchula

นิสิตวิศวฯ รับรางวัล Honorable Student Award ของ HUAWEI ในงาน HUAWEI CLOUD DEVELOPMENT COMPETITION APAC FINAL 2022

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับคุณรังรักษ์ ไมตรีบริรักษ์ และ คุณพัชริยา ปิยะอารมณ์รัตน์ นิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (ภาคนอกเวลา) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ญาใจ ลิ่มปิยะกรณ์ อาจารย์ที่ปรึกษา ที่ได้รับรางวัล Honorable Student Award ของ HUAWEI ในงาน HUAWEI CLOUD DEVELOPMENT COMPETITION APAC FINAL 2022 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วิศวฯ จุฬาฯ สาธิตรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ และผลลัพธ์จากโครงการ การทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ

หลังจากที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดตัวแพลตฟอร์มวิจัยและทดสอบระบบรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ (Autonomous Shuttle pod) โดยนำเทคโนโลยี CAV ที่เห็นในต่างประเทศมาพัฒนาและทดสอบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ในวันที่ 15 กันยายน 2565 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ได้จัดสาธิตการทำงานของรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ ที่พัฒนาบนแพลตฟอร์มวิจัยระบบขับขี่อัตโนมัติขึ้น โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี ร่วมกับคณาจารย์ในคณะฯ นักวิจัยและแขกผู้มีเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ ภายนอกเข้าร่วมในงานสาธิตนี้ โดยมีการสาธิตและแสดงผลลัพธ์จากโครงการ การทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับ ดังนี้
1) การสาธิตการวิ่งของรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) การพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติของรถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ และการสร้างแผนที่ความละเอียดสูง (HD Map)
3) การพัฒนาและสาธิตระบบตรวจสอบการหลับในของผู้เฝ้าระวังระบบขับขี่อัตโนมัติ (Safe driver monitoring and drowsiness detection) ระบบเฝ้าระวังผู้โดยสาร (Passenger monitoring) และแดชบอร์ดการจัดการ (Management dashboard)
4) การพัฒนาระบบฝาแฝดดิจิทัล (Digital Twin) สำหรับการจำลองการทดสอบรถไร้คนขับในสภาพแวดล้อมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5) การทดสอบการสื่อสารด้วยระบบ 5G ของรถไร้คนขับ

โครงการการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับรถไร้คนขับเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อทดสอบการใช้งานรถไร้คนขับต้นแบบภายในพื้นที่ที่กำหนดผ่านการสื่อสาร 5G ทดสอบเก็บข้อมูลการทำงานพื้นฐาน ความสามารถของระบบต่าง ๆ ทดสอบการสื่อสารระหว่างรถไร้คนขับกับเครือข่าย 5G และ แสดงกรณีการใช้งาน (Use case) ของเทคโนโลยี 5G โดยเป็นความร่วมมือของคณาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart MOBI) และมีบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ร่วมในการทดลองการใช้งานระบบเครือข่าย 5G

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวถึงการสาธิตครั้งนี้ว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์และศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart MOBI) มุ่งหวังให้แพลตฟอร์มรถไร้คนขับที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนี้ เป็นแพลตฟอร์มเพื่อให้นักวิจัยจากส่วนต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานวิจัยและพัฒนา อันจะเป็นการขยายผลการพัฒนาเทคโนโลยีและทดสอบกรณีการใช้งาน (Use case) ของรถไร้คนขับเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้บริโภคและผู้ใช้ท้องถนนในอนาคต และเป็นการเตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยีรถไร้คนขับนี้มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ในประเทศไทยต่อไป

ขอเชิญร่วมทำบุญในการทอดกฐินสามัคคี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2565

ขอเชิญร่วมทำบุญในการทอดกฐินสามัคคี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2565
ในวันที่ 15-16 ตุลาคม 2565
.
ทอดกฐินสามัคคี
ในวันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00 น.
ณ วัดกาญจนบุรีเก่า ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี
.
ทอดกฐินสามัคคี
ในวันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม 2565 เวลา 13.00 น.
ณ วัดสหธรรมทรรศน์ ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี

.
ช่องทางการร่วมบริจาคปัจจัยทำบุญ
เพื่อความสะดวกในการบริจาคปัจจัยทำบุญ สามารถโอนเข้า
บัญชีออมทรัพย์ชื่อ “กฐินสามัคคี วิศวฯ จุฬาฯ”
เลขที่ 136-3-989574 ธนาคารกสิกรไทย สาขาจามจุรีสแควร์

.
หรือมอบซองปัจจัยได้ที่คณบดีหรือผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร หรือ เลขาธิการสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาฯ
ภายในวันอังคารที่ 11 ตุลาคม 2565
.
ส่งหลักฐานผ่านทาง E-mail: Kathin@eng.chula.ac.th
.
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สำนักคณบดี คุณสงวน ภู่ระหงษ์ หรือ คุณวิภาพรรณ ศิริทิพย์สกุล
โทร.02-2186304, 02-2186310, 02-2187770 โทรสาร. 02-2536161

วิศวฯ จุฬาฯ ในสื่อ : วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมปลดล็อกการศึกษาไทย เปิดสาขาใหม่ ตอบโจทย์โลกยุคดิจิทัล

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมเปิดสาขาใหม่ หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และ เทคโนโลยีดิจิทัล ที่แตกต่างไปจากการเรียนตามหลักสูตรทั่วไป ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรของวงการศึกษาไทย ที่ต้องปรับตัวให้เกิดความแตกต่าง และตอบโจทย์ของโลกยุคใหม่ ที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมนั้น ๆ

โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มองเห็นโอกาสของความต้องการบุคลากรด้านอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ที่ปัจจุบันถือว่าขาดแคลนอย่างมากในตลาดแรงงาน จึงได้เตรียมเปิดตัวหลักสูตรวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Computer Engineering & Digital Technology ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญาตรี 4 ปี โดยเบื้องต้นจะเปิดรับนิสิต 300 ที่นั่งต่อปี

อ่านข่าวได้ที่
https://www.matichonweekly.com/publicize/article_598982

ขอขอบคุณที่มา : มติชนสุดสัปดาห์

คณะวิศวฯ จัดอบรมเรื่อง “การเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนขององค์กร”

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมอบรมให้กับบุคลากรของคณะฯ ในเรื่อง “การเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนขององค์กร” ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการจัดการขยะมูลฝอยเพื่อส่งเสริมการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.อรทัย ชวาลภาประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program (ILP) คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นวิทยากร โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีเป็นผู้กล่าวเปิดงาน

การอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับ Carbon Neutral การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร รับทราบถึง Global Trends and Thailand Opportunities รวมทั้งแนวทางการจัดการขยะของคณะวิศวฯ เพื่อให้บุคลากรสามารถนำความรู้ไปใช้ในการลดการใช้พลังงานและการจัดการขยะภายในหน่วยงาน

วิศวฯ จุฬาฯ ผนึก AIS 5G อวดโฉม AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE Sandbox พร้อมเครือข่าย 5G บนคลื่น 2600 MHzและ 26 GHz แห่งแรกของไทย เตรียมความพร้อมนิสิต นักพัฒนา สร้าง 5G Use case หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือ AIS 5G ต่อเนื่อง หลังจากร่วมเป็นพันธมิตรทดลอง ทดสอบ 5G ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน ร่วมเปิดตัวศูนย์ 5G R&D ในชื่อ “AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE” แห่งแรกของสถาบันการศึกษาในเมืองไทย ณ อาคาร 100 ปี วิศวฯ จุฬา ที่ติดตั้ง LIVE Private Network ด้วยสถานีฐาน 5G กับ 2 คลื่นความถี่ 2600 MHzและ 26 GHz (mmWave) พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรม 5G ให้นิสิตและคณาจารย์ หนุนภาคอุตสาหกรรม เสริมแกร่งประเทศ

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS กล่าวในโอกาสเปิดตัว “AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า “เรารู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนสนับสนุนภาคการศึกษา เปิดพื้นที่เพื่อพัฒนาความพร้อมให้แก่นิสิต นักศึกษา นักพัฒนา รวมถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงของเทคโนโลยี Digital ของไทย ได้มีโอกาสลงมือทดลอง ทดสอบ เพื่อพัฒนาไอเดียด้วยเทคโนโลยีอย่าง AI, ML, VR, AR, MR, IoT, Metaverse, Robotic ฯลฯ บนเครือข่าย 5G”

“แม้ว่าวันนี้ประเทศไทยจะมีบริการ 5G เชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดย AIS เป็นรายแรกที่เปิดให้บริการด้วยการมีคลื่นความถี่มากที่สุดคือ 1420 MHz แต่ประโยชน์ของ 5G ยังจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะในส่วนของ Digital Transformation ที่จะพลิกโฉม Business Model ของทุกภาคส่วนให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก Digital Disruption และการเกิดขึ้นของโควิด ดังนั้นการทำงานร่วมกับภาคการศึกษา เพื่อค้นคว้า วิจัย ทดลอง ทดสอบ จึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุดเสมอมา ดังเช่น ความร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน ที่ยังทำงานกันมาอย่างต่อเนื่องผ่าน use case ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นผลงานวิจัยของคณาจารย์ หรือ โครงการของนิสิต ที่ล้วนแต่มีเป้าหมายเดียวกันคือ นวัตกรรมเพื่อประเทศ”

“จึงเป็นที่มาของการเปิดตัว  “AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE” แห่งแรกของสถาบันการศึกษา ในเมืองไทย ณ อาคาร 100 ปี วิศวฯ จุฬา ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่ทดลอง ทดสอบ 5G บนสภาพแวดล้อมจริงด้วย LIVE Private Network   ซึ่งนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ รวมถึงนักพัฒนา ใน 5G Ecosystem สามารถใช้เป็นพื้นที่ศึกษา เรียนรู้ ทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้ง AI, ML, VR, AR, MR, IoT, Metaverse, Robotic ฯลฯ บน 5G ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เพราะได้ติดตั้งสถานีฐาน 5G ที่เลือกเอาคลื่น 2600 MHz และ คลื่น 26 GHz (mmWave) ที่เหมาะกับการพัฒนา Use case ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Industrial solutions, Holograms Solutions หรือ Fixed Wireless Access-FWA   เพราะช่วงความถี่อย่าง 26 GHz มีปริมาณ Bandwidth มหาศาลและความหน่วงต่ำมาก (Low Latency), การสนับสนุนอุปกรณ์ส่งสัญญาณอย่าง 5G CPE , องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานของเทคโนโลยี 5G, พร้อมทั้งการสัมมนา workshop จาก Guest Speaker หลากหลายวงการ เพื่อพัฒนาความรู้ ความชำนาญในทางเทคนิค ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill รวมไปถึงการเชิญชวนร่วม Co-Develop บริการต้นแบบบน 5G อีกด้วย”

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “วิศว จุฬาฯ เป็น 1 ในสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีที่เข้าไปร่วมทำงานกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น กสทช. , DE หรือ ภาคเอกชน เพื่อทดลอง ทดสอบ use cases ต่าง ๆ ที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ sector หลักของประเทศให้ได้มากที่สุด ดังนั้นการมีสถานที่ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเสมือนจริงอย่าง AIS 5G Playground และ 5G Garage ที่มีความครอบคลุมของคลื่นความถี่ของ 5G แบบ LIVE Network จึงถือว่าตอบโจทย์และสามารถส่งเสริมให้นิสิต และ คณาจารย์ ได้ใช้เป็นแหล่งทำงานวิจัย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมบน Sandbox ได้อย่างดี ที่สำคัญถือเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีจากเราและภาคปฏิบัติที่เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานจริงของ AIS ที่จะมาช่วยเสริมทักษะให้แก่นิสิตและคณาจารย์ ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประเทศไทย ผ่าน 5G ได้อย่างตอบโจทย์ที่สุดต่อไป”

นายวสิษฐ์ กล่าวตอนท้ายว่า “การที่ภาคการศึกษา ให้ความสำคัญกับการฝึกฝน สร้างทักษะเพื่อเตรียมรองรับเทคโนโลยี 5G ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะ 5G คือเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากคุณสมบัติ 3 ส่วน คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขยายขีดความสามารถการเชื่อมต่อของ IoT และ ทำให้เครือข่ายตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรที่สุด  ดังนั้นการศึกษาให้มากที่สุดย่อมทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแนวคิดจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่ง AIS พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่”

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการจัดแสดงผลงานและนวัตกรรมของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ดังนี้

1. หุ่นยนต์ WALKIE : หุ่นยนต์บริการในครัวเรือน หรือ Domestic service robot  ที่สามารถทำงานบ้านได้ ยกข้าวของเครื่องใช้ได้ เพราะมี AI อัจฉริยะที่ทำให้รู้ว่าของต่าง ๆ ในบ้านอยู่ตรงไหน สามารถเดินไปห้องต่าง ๆ ได้อย่างอัตโนมัติ พร้อมโต้ตอบได้แบบ Real Time ซึ่งต้องใช้ศักยภาพของ 5G ในการทำงาน โดยเป็นโครงการของชมรมหุ่นยนต์แห่งวิศวฯ จุฬาฯ (EIC Chula) ที่ประกวดคว้าอันดับที่ 2 ของโลกมาได้ในรายการ RoboCup@Home Open Platform League  

2. หุ่นยนต์ไข่มุก: หุ่นยนต์Home Healthcare ที่มีการใช้งานหลากหลายด้าน TeleHealth หนึ่งในการใช้งานที่โชว์ในงานนี้คือ  ช่วยฝึกการเคลื่อนไหวให้ผู้ป่วยพาร์กินสัน สามารถทำกายภาพได้ตามคำแนะนำทางการแพทย์ได้ โดยผู้ป่วยไม่ต้องเข้ามาที่โรงพยาบาล พร้อมเก็บและส่งต่อสถิติเพื่อให้คุณหมอและนักกายภาพสามารถดูพัฒนาการของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ผ่านการใช้ขีดความสามารถของ 5G

3. หุ่นยนต์ Rehab : Universal Controller ด้วยลักษณะของแขนกลที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อัมพาต อัมพฤกษ์ กล้ามเนื้ออ่อนแรง สามารถฝึกทำกายภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเก็บและส่งต่อสถิติบนโครงข่าย 5G เพื่อให้สามารถดูพัฒนาการของผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ อีกทั้งแขนกลนี้จะช่วยลดภาระของนักกายภาพบำบัด ทำให้สามารถที่จะกายภาพคนไข้ได้ปริมาณจำนวนคนต่อวันที่เพิ่มขึ้น

4. Autonomous Shuttle Bus : รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ (Autonomous Shuttle pod) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กสทช. และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กทปส. ที่ใช้ระบบ 5G เป็นตัวเชื่อมต่อ คาดว่าปลายปีจะเริ่มนำไปวิ่งบนพื้นที่ถนนจริง

5. IntaniaVerse : คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ริเริ่มการทำเมตาเวิร์สเพื่อการศึกษา อาทิ หอประวัติแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงไฟฟ้า ณ เขื่อนท่าทุ่งนา การฝึกและบำบัดผู้สูงวัยด้วยแอปพลิเคชันโลกเสมือนจริง และรวมถึง AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE นอกจากนี้ มีหลักสูตรอบรมการสร้างโลกเมตาเวิร์สภายใต้โครงการ Chula Engineering สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning สำหรับบุคคลทั่วไป นิสิต นักศึกษา และหน่วยงานที่สนใจ โดย AIS ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ด้วย

คณะวิศวกรรมศาสตร์ขอแสดงความยินดีกับศ. ดร.จูงใจ ปั้นประณต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี เนื่องในโอกาสเข้ารับพระราชทานรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส วช. ประจำปี 2563

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)” จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ โอกาสนี้ทรงพระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564-2565, รางวัลศาสตราจารย์วิจัย วช.ประจำปี 2563-2565 และรางวัลเมธีวิจัยอาวุโสวช. ประจำปี 2563-2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับศาสตราจารย์ ดร.จูงใจ ปั้นประณต ภาควิชาวิศวกรรมเคมี เนื่องในโอกาสเข้ารับพระราชทานรางวัลเมธีวิจัยอาวุโส วช. ประจำปี 2563 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ขอแสดงความยินดีกับนิสิตภาควิชาวิศวกรรมโยธาที่ได้รับรางวัลจากการเข้าร่วมการแข่งขัน AP BIM EMPOWER CIVIL 2022

คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงความยินดีกับนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้แก่ นายภูริเดช ศิลป์ไพบูลย์พานิช, นายเจตณัฐ ประภพรัตนกุลและนายชญานนท์ พรเจริญ ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และนายธนเดช ศราฐิติภัค, นายธนภัทร ยังพัธนา และนายจิรา พิจิตรศิริ ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 จากการเข้าร่วมการแข่งขัน AP BIM EMPOWER CIVIL 2022 ในงานเปิดบ้าน (Open House) ของ AP Thailand ประจำปี 2022 ซึ่งงานนี้จัดขึ้นสำหรับนิสิตภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่อยากเรียนรู้เรื่องของกระบวนการ BIM และยังสามารถต่อยอด มีโอกาสได้ทดลองทำงานร่วมกับพี่ ๆ มืออาชีพของ AP Thailand

วิศวฯ จุฬาฯ ในสื่อ : หุ่นยนต์ ‘Walkie’ ดังกระหึ่ม วิศวฯ จุฬาฯ คว้ารองแชมป์โลก โดย The Sharpener

วิศวฯ จุฬาฯ ในสื่อ : หุ่นยนต์ ‘Walkie’ ดังกระหึ่ม วิศวฯ จุฬาฯ คว้ารองแชมป์โลก

วิดีโอสัมภาษณ์ https://youtu.be/ppruC-n5yk4


เมื่อประเทศไทยอยู่ในยุคสมัยแห่งสังคมผู้สูงวัยมาระยะหนึ่งแล้ว จึงทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยที่เราจะได้เห็นตลาดสินค้าและบริการขานรับและพุ่งเป้าใส่ใจไลฟ์สไตล์คนสูงอายุ หรือกลุ่ม Eldery Care ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน เราก็ได้เห็นความพยายามของหลายบริษัทยักษ์ใหญ่โดดลงมาชิงชัยแข่งกันปักธงในตลาดนี้โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิต “หุ่นยนต์” เร่งพัฒนานวัตกรรม ปรับปรุงผลิตภัณฑ์โดยนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาประยุกต์เอื้อต่อการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะเฉพาะตัว เข้าตำรา “คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ” เพราะคนตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่เป็นลูกหลานหามาให้ไว้ใช้งานด้วยความห่วงใย หลายครอบครัวจึงกำลังมองหาหุ่นยนต์มาเป็นตัวช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลผู้สูงวัยในบ้าน
ไม่เพียงบริษัทระดับโลกเท่านั้นที่กำลังแข่งขันพัฒนาหุ่นยนต์ แต่ในระดับผู้พัฒนาระดับจูเนียร์ลงมาอย่าง

กลุ่มนิสิตนักศึกษาทั่วโลกเองก็ทำได้เก่งกาจไม่แพ้กันเลยทีเดียว ล่าสุดกับการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติในรายการที่ใหญ่ที่สุดในโลก “RoboCup@Home 2022” ที่เวียนกลับมาจัดที่ประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 13-17 กรกฎาคม 2565 ทีมหุ่นยนต์สัญชาติไทยโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้แสดงศักยภาพความเก่งกล้าสามารถในด้านนี้เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งโลก โดยคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งมาครองได้สำเร็จ The Sharpener, Sharpen your SDG จึงพลาดไม่ได้ที่จะพาทุกท่านมารู้จักกับ “น้องเอิร์ธ ธนโชติ” หัวหน้าทีม EIC Chula ผู้พัฒนาหุ่นยนต์น้อง ‘Walkie’ จนดังกระหึ่มโลก
ธนโชติ สรรพกิจ หรือ เอิร์ธ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าชมรมหุ่นยนต์แห่งวิศวฯ จุฬาฯ (EIC Chula) กล่าวว่า “ทุกวันนี้ประเทศไทยและหลายประเทศในโลกได้เริ่มก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบแล้ว คนแก่คนชราที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ก็มีเยอะขึ้นมาก ยกตัวอย่างใกล้ตัวเลยเช่นคุณยายผมที่ไปไหนต้องมีคนดูแลไปด้วย ถ้าคุณยายของผมมีหุ่นยนต์ที่ช่วยพยุงเวลาเดิน ช่วยยกอาหารมาเสิร์ฟ หรือ แม้แต่ช่วยทำงานบ้านต่าง ๆ คุณยายคงสะดวกสบายมากกว่านี้ และอาจช่วยลดค่าใช้จ่ายจ้างคนดูแลไปได้เยอะเหมือนกัน”

เมื่อได้คุณยายมาเป็นแรงบันดาลใจ น้องเอิร์ธจึงได้ร่วมกันกับเพื่อน รุ่นพี่ และรุ่นน้องในชมรมเริ่มคิดและพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ “ผมและทีมเราจึงคิดสร้างหุ่นยนต์บริการในครัวเรือน หรือ domestic service robot ชื่อว่าน้อง ‘Walkie’ ที่สามารถทำงานบ้านได้ ยกข้าวของเครื่องใช้ได้ มี AI ที่ฉลาดทำให้รู้ว่าของต่าง ๆ ในบ้านอยู่ตรงไหน สามารถเดินไปห้องต่าง ๆ ได้อย่างอัตโนมัติ และเราสามารถพูดคุยกับน้อง Walkie ได้ด้วย” น้องเอิร์ธเล่าพร้อมกับรอยยิ้ม

จากจุดเริ่มของการสร้างหุ่นยนต์ Walkie สู่การสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้คนไทย กับการกลับมาลงชิงชัยในสมรภูมิแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกสนามนี้อีกครั้งในนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“แต่ก่อนชมรม EIC เคยอยู่ในยุครุ่งเรืองที่พี่ ๆ เราเคยได้แชมป์โลก RoboCup มาเหมือนกันในปี 2008 ตอนนั้นเราสร้างหุ่นยนต์เตะบอลกับหุ่นยนต์กู้ภัย แต่หลังจากนั้นก็ห่างหายไปเพราะขาดคนสานต่อ ในปีที่ผ่านมาเราจึงฟื้นฟูชมรมกลับมาใหม่ โดยเริ่มโปรเจค นี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จากนั้นก็ได้ชวนเพื่อน ๆ น้อง ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ จนตอนนี้มีทั้งหมด 50 กว่าชีวิต มันเหมือนกับทำให้ชมรมกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง แล้วเราก็ได้สร้างน้อง “Walkie” จนสมบูรณ์ที่จะนำไปแข่งในงาน RoboCup 2022 ผลสรุปว่าทีม EIC Chula ได้คว้าอันดับที่สองของโลกมาได้ในรายการ RoboCup@Home Open Platform League เป็นรางวัลที่น่าภูมิใจมากครับสำหรับปีแรกที่เรากลับมา และทางทีมสัญญาว่าจะพยายามต่อไป ในปีหน้าและปีต่อ ๆ ไปด้วยครับ”

และแน่นอนว่าทุกความสำเร็จย่อมมีแรงสนับสนุนคอยผลักดันเป็นดั่งลมใต้ปีกให้ทะยานสู่ฝั่งฝัน ทีม EIC Chula ก็เช่นกัน ในเรื่องนี้น้องเอิร์ธ เปิดเผยว่า
“การกลับมารวมตัวกันของพวกเราวิศวฯ จุฬาฯ ต้องอาศัยการรวมใจกันของเพื่อนๆ น้อง ๆ และที่สำคัญเลยคือเราได้ พี่ ๆ นิสิตเก่ากลับมาให้แนวทาง คอย Guide & Gear ให้ และยังได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมนิสิตเก่าวิศวฯ จุฬาฯ หรือ สวจ. รวมถึงบริษัทต่าง ๆ ที่ได้สนับสนุนให้เงินมาสร้างน้อง Walkie ตัวนี้

ทั้งนี้ชมรมเราก็ไม่ได้จะมุ่งแต่งานแข่งนี้งานเดียว ยังมีหุ่นยนต์และทีมงานที่พร้อมลงแข่งในอีกหลายรายการ เช่น CRU Robot Games, PLC Competition เป็นต้น นอกจากนี้ ในชมรมเรายังจัดเวิร์คช้อปกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้น้อง ๆ ที่ยังไม่มีพื้นฐาน หรือบางคนที่มีพื้นฐานอยู่บ้างแล้ว ได้มาสนุกกับการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ กับพวกเรา EIC”

ทิ้งท้ายก่อนจากกัน หัวหน้าทีม EIC Chula ยังได้ฝากทิ้งท้ายถึงคนรุ่นใหม่ในรุ่นราวคราวเดียวกันที่มั่นใจในศักยภาพของตนเองว่า “ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เราจะอยู่กับมันได้นาน และเราจะพยายามทำมันไม่ว่าจะเจอปัญหาเยอะขนาดไหน ผมเชื่อว่าประเทศไทยก็สามารถมีนวัตกรรมเจ๋ง ๆ และไม่จำเป็นต้องซื้อหุ่นยนต์จากต่างประเทศที่มีราคาแพงหากเราทำเองได้ เพียงเรามี know how อยู่กับตัว ก็อาจทำให้ต้นทุนไม่สูงได้ ในอนาคตผมก็อยากเห็นทั้งคุณยายของผม และคนชราในแต่ละบ้านจะได้มีหุ่นยนต์ไว้คอยเคียงข้างแน่นอนครับ”

ขอขอบคุณที่มา : The Sharpener

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้

บันทึกการตั้งค่า